Chapter 10 : Risk-First Mindset คิดถึงขาดทุนไว้ก่อนแล้วจะปลอดภัย
การลงทุนโดยมองกำไรก่อน (Profit-First Mindset) อาจไม่ใช่ทัศนคติที่ปลอดภัยนัก เพราะเมื่อนักลงทุนเข้าลงทุนโดยพิจารณาแต่เพียงผลกำไรจากหลักทรัพย์เป็นสำคัญ ความยึดติดในผลกำไรนั้นอาจทำให้นักลงทุนหุนหันเข้าลงทุนอย่างไม่ยั้งคิด ด้วยกลัวที่จะพลาดโอกาสในการทำกำไร (Fear of missing out: FOMO) โดยลืมไปว่าหลักทรัพย์ที่อาจให้ผลกำไรมหาศาลก็อาจให้ผลขาดทุนมหาศาลได้เช่นเดียวกัน
ตลาดลงทุนเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจ ความเสี่ยงจากความมั่นคงทางการเมือง หรือความเสี่ยงจากผลดำเนินกิจการของตัวบริษัทจดทะเบียนเอง ดังนั้นไม่ว่านักลงทุนจะมั่นใจในความสามารถการวิเคราะห์หลักทรัพย์ของตนเพียงใด ก็มีโอกาสที่ปัจจัยความเสี่ยงต่างๆข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ให้แตกต่างไปจากการคาดการณ์ของนักลงทุนได้ นักลงทุนจึงควรบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเสียก่อนจึงค่อยพยายามเพิ่มผลตอบแทนให้สูงขึ้น (แนวคิดแบบมองขาดทุนก่อนกำไร หรือ Risk-First Mindset) ตามแผนภาพแนวคิดสีน้ำเงินด้านล่างนี้
การปรับใช้แนวคิดแบบมองขาดทุนก่อน (Risk-First Mindset) จะเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามทุกครั้งก่อนเข้าลงทุนดังต่อไปนี้:
เมื่อพิจารณาจากการวิเคราะห์และระบบการลงทุนของตนเอง
นักลงทุนจะตัดขาดทุนที่ระดับราคาใด?
เมื่อพิจารณาตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง
นักลงทุนจะเข้าลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่าไหร่?
หากตัดขาดทุนแล้วจะเสียเงินลงทุนเป็นจำนวนเท่าใด?
เงินลงทุนที่เสียไปจากการตัดขาดทุนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่?
เมื่อลองเปรียบเทียบผลขาดทุนเข้ากับกำไรที่คาดว่าจะได้รับแล้วอยู่ในระดับที่น่าพอใจหรือไม่?
ทั้งนี้นักลงทุนสามารถคำนวณความเสี่ยงเบื้องต้นได้ 2 วิธีดังต่อไปนี้:
คำนวณความเสี่ยงจากเงินลงทุนตั้งต้น
วิธีนี้จะมุ่งความสนใจไปที่จำนวนหลักทรัพย์ใน Portfolio และจำนวนเงินต้น โดยนักลงทุนจะเป็นคนกำหนดว่าต้องการมีหลักทรัพย์ทั้งสิ้นกี่ตัว ด้วยเงินตั้งต้นเท่าใด คิดเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ต่อหลักทรัพย์ในแต่ละตัว ดังภาพตัวอย่างด้านล่างนี้
ข้อดี – เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำความเข้าใจ จึงบริหารจัดการง่าย และเป็นระเบียบเรียบร้อย
ข้อเสีย –เนื่องจากในบางครั้งจุดตัดขาดทุนที่สมเหตุสมผล (Logical Stop Loss) อาจอยู่ห่างจากราคาเข้าลงทุนมาก ทำให้นักลงทุนยากที่จะยอมรับในผลขาดทุนนั้นได้ จนอาจต้องการตัดขาดทุนก่อนจุดตัดขาดทุนที่เหมาะสม หรือเลือกที่จะไม่ลงทุนในหลักทรัพย์ตัวนี้เลย
คำนวณความเสี่ยงจากขาดทุนที่ยอมรับได้
วิธีนี้เริ่มต้นด้วยการถามตนเองก่อนว่าสามารถยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนแต่ละครั้งได้เป็นจำนวนเงินเท่าใด หลังจากนั้นจึงนำจำนวนดังกล่าวมาคำนวณหาจำนวนหลักทรัพย์ที่ต้องการลงทุนโดยอิงตามจุดตัดขาดทุนที่นักลงทุนได้วางแผนไว้ ดังภาพตัวอย่างด้านล่างนี้
ข้อดี – จำนวนตัดขาดทุนในแต่ละครั้งที่เข้าลงทุนจะเท่ากันเสมอ จึงไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่านักลงทุนต้องแบกรับความเสี่ยงที่มากเกินกว่าจะยอมรับได้ (Over-Risked)
ข้อเสีย – การคำนวณความเสี่ยงด้วยวิธีนี้ค่อนข้างซับซ้อน จึงทำให้เสียเวลาคำนวณในแต่ละครั้งที่เข้าลงทุนค่อนข้างมาก วิธีนี้จึงไม่เหมาะแก่การเก็งกำไรในระยะสั้น
นักลงทุนควรพึงระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงใดที่ดีที่สุด ทุกกลยุทธ์ล้วนมีข้อดีข้อเสียในตัว สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การหากลยุทธ์ที่ดีที่สุด แต่เป็นความมีระเบียบวินัยในตนเองที่จะทำตามแผนการบริหารความเสี่ยงที่ได้วางเอาไว้ กล่าวคือกลยุทธ์บริหารความเสี่ยงไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็ไร้ความหมาย หากนักลงทุนใจไม่แข็งพอที่จะตัดขาดทุนเมื่อถึงเวลา
ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล
เทรดเดอร์อิสระ