Chapter 8 : Plan you trade, Trade your plan

ไม่ว่าเราจะทำอะไรหากปราศจากการวางแผนที่ดีก็เป็นการยากที่จะประสบความสำเร็จ การลงทุนก็เช่นกัน ตลาดหุ้นนั้นเปรียบเสมือนสนามรบที่เต็มไปด้วยนักลงทุนมากทักษะและคลื่นเงินทุนมหาศาล เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถเอาชนะตลาดในระยะยาวได้หากปราศจากการ “วางแผนการลงทุนที่ดี”


 
unsplash-image-21GWwco-JBQ.jpg
 

นักลงทุนควรวางแผนการลงทุนล่วงหน้าทุกครั้งก่อนเข้าลงทุนในตลาด หลายคนอาจสงสัย “ก็เข้าลงทุนไปก่อน แล้วค่อยคิดแผนทีหลังไม่ได้หรือ?” เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ เราอาจต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์เสียก่อน อันพฤติกรรมที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ เชื่อว่านักลงทุนทุกคนต่างก็เคยสัมผัสกับตัวมาแล้วทั้งนั้น

  1. FOMO (Fear of Missing Out)

    Fear of Missing Out คืออารมณ์โลภจากการที่นักลงทุนอยากได้กำไรจากราคาหุ้นที่เคลื่อนที่ขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่นักลงทุนไม่ได้ซื้อหุ้นตัวดังกล่าวไว้ก่อน จึงกลายเป็นการตัดสินใจเข้าลงทุนอย่างหุนหันพลันแล่น ปราศจากการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน จนอาจนำไปสู่ความผิดพลาดในการเข้าลงทุนได้ในที่สุด (อาทิ ติดดอย)

    นักลงทุนควรวิเคราะห์หลักทรัพย์และวางแผนก่อนเข้าลงทุนทุกครั้ง เพื่อลดความผิดพลาดในการลงทุนจากอารมณ์ส่วนตัว หรือการลงทุนแบบไม่ยั้งคิด (Impulsive Behavior)

  2. บริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ

    นักลงทุนควรเข้าลงทุนด้วยจำนวนเงินที่พร้อมจะเสียจากการขาดทุน หากนักลงทุนเข้าลงทุนตามใจโดยไม่วางแผน เผื่อขาดทุน เมื่อเกิดการขาดทุนขึ้นมาจริงๆ จำนวนขาดทุนอาจมากจนนักลงทุนไม่สามารถทำใจตัดขาดทุนได้ และเมื่อความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตลงทุนสูงเกินไป หากเกิดความผิดพลาดจากการลงทุนจนเกิดขาดทุนมหาศาลก็ยากต่อการกู่คืนได้ในอนาคต

  3. ป้องกันอาการรนหลังจากเข้าลงทุน

    หลังจากที่เข้าลงทุนไปแล้ว ไม่ว่าราคาหุ้นจะเคลื่อนที่ขึ้นหรือลง นักลงทุนล้วนเผชิญกับความผันผวนทางอารมณ์กันทั้งนั้น ทั้งความกลัวว่าราคาหุ้นจะตกและความโลภว่าอยากให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้น อารมณ์ที่พลุ่งพล่านนี้อาจทำให้นักลงทุนสับสนจนรนได้ เมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาด

    • หากราคาหุ้นเคลื่อนที่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ความโลภอาจเข้าครอบงำนักลงทุนจนไม่สนใจที่จะทยอยขายทำกำไรระหว่างทาง หวังเพียงแต่ให้ราคาเคลื่อนที่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายราคาอาจผันผวนกลับลงมาที่เดิมหรือต่ำกว่าราคาทุน

    • หลังจากเข้าลงทุนไม่นานหากราคาหุ้นร่วงลงอย่างรวดเร็ว ความกลัวอาจเข้าครอบงำนักลงทุนจนตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้งหมดก่อนถึงจุดตัดขาดทุน (cut loss) ที่เหมาะสม เมื่อราคาหุ้นปรับตัวกลับขึ้นไป นักลงทุนจึงพลาดโอกาสทำกำไรไปอย่างน่าเสียดาย

unsplash-image-8lnbXtxFGZw.jpg

เหตุการณ์ข้างต้นที่กล่าวมานี้ นอกจากจะส่งผลต่อโอกาสในการทำกำไรของนักลงทุนแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจอีกด้วย ทำให้นักลงทุนเกิดสูญเสียความมั่นใจในการลงทุนจนหมดกำลังใจ นักลงทุนจึงควรวางแผนการลงทุนให้รอบคอบ ซึ่งแผนที่ดีควรประกอบไปด้วยปัจจัยอย่างน้อย 3 อย่างนี้

unsplash-image-NDfqqq_7QWM.jpg
  1. กลยุทธ์การลงทุน

    นักลงทุนควรทำความเข้าใจและจดบันทึกอย่างละเอียด ถึงเงื่อนไขต่างๆที่นักลงทุนใช้คัดสรรหุ้นก่อนเข้าลงทุน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเชิงเทคนิค (Indicator, Price action, Volume, Bid-Offer) หรือ รายละเอียดเชิงพื้นฐาน (งบการเงิน, ปัจจัยภายนอก, ความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัท)

  2. การบริหารความเสี่ยง

    นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงในแต่ละไม้ได้เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ มีวิธีคำนวนความเสี่ยงอย่างไร จุดตัดขาดทุน (cut loss) อยู่ตรงไหน รายละเอียดเหล่านี้นักลงทุนต้องทำการวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อที่จะสามารถปรับใช้ได้อย่างทันท่วงที

  3. การทำกำไร

    เมื่อราคาหุ้นเคลื่อนที่ขึ้นไปตามการคาดการณ์ นักลงทุนจะเริ่มทำกำไรหรือทยอยขายเมื่อใด อะไรคือเงื่อนไขที่นักลงทุนใช้ตัดสินใจ ว่าถึงเวลาทำกำไรจากหลักทรัพย์ตัวนี้แล้ว และจะทำกำไรด้วยรูปแบบใด

    “กำไรกระดาษ” จากราคาหุ้นที่ยังไม่ได้ขายนั้นไม่มีค่าแต่อย่างใด หากนักลงทุนขาดแผนการทำกำไรที่ชัดเจน หวังแต่เพียงให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็อาจจบลงด้วยราคาหุ้นที่กลับตัวลงมาอยู่ ณ จุดเดิมหรือต่ำกว่าทุน กลายเป็นการขาดทุนในที่สุด


เมื่อนักลงทุนเข้าลงทุนแล้ว จิตใจจะเต็มไปด้วยอารมณ์อันเข้มข้น หวังอย่างแรงกล้าให้ราคาหุ้นเคลื่อนที่สูงขึ้น หวาดกลัวอย่างสุดขีดว่าราคาหุ้นอาจดิ่งลง อารมณ์ที่พลุ่งพล่านนี้ส่งผลให้นักลงทุนไม่สามารถใช้ตรรกะในการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม นักลงทุนจึงควรวางแผนการลงทุนอย่างละเอียดไว้ล่วงหน้าทุกครั้ง เพื่อที่นักลงทุนจะสามารถมีหลักการณ์ไว้ยึดเหนี่ยวและบริหารการลงทุนได้อย่างเป็นระบบ

ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล

เทรดเดอร์อิสระ

 

Social Links

 

Recent Posts

Previous
Previous

Chapter 9 : Supermarket Mentality แนวคิดที่ใช้ไม่ได้ในโลกของการลงทุน

Next
Next

Introduction : สุขภาพที่แข็งแรงสำคัญที่สุด