Chapter 9 : Supermarket Mentality แนวคิดที่ใช้ไม่ได้ในโลกของการลงทุน
เมื่อต้องการซื้อสินค้าหรือบริการ เรามักถูกดึงดูดด้วยโปรโมชั่นลดราคาต่างๆ เพราะเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าของสินค้าที่ได้รับ (Value) และราคาที่ต้องจ่าย (Price) นั่นหมายถึงเราสามารถซื้อของชิ้นเดิมได้ในราคาที่ถูกลง การตัดสินใจซื้อสินค้าที่มาพร้อมโปรโมชั่นจึงดูเหมือนเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งนักลงทุนหลายคนก็มักนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในกลยุทธ์การลงทุน จนเกิดเป็น “Supermarket Mentality” กลายเป็นต้นตอของหายนะโดยไม่รู้ตัว
Supermarket Mentality คือหลุมพรางทางจิตวิทยาการลงทุน เกิดขึ้นจากความเคยชินในการซื้อสินค้าและบริการโดยยึดเอาส่วนลดหรือโปรโมชั่นเป็นสำคัญ เมื่อนำแนวคิดนี้มาใช้กับการลงทุนก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเงินลงทุนในระยะยาวได้ เนื่องจาก:
1. หลักคิดและตรรกะในโลกของการลงทุนซึ่งแตกต่างจากโลกภายนอก
สินค้าและบริการต่างๆที่เราซื้อนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง หากเราซื้อสินค้าและบริการที่ดีในราคาถูก คุณค่าของสินค้าต่อราคาที่จ่ายก็จะสูงขึ้น
ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม --> นำมารับประทานหรือดื่มได้โดยตรง
ซื้อเสื้อผ้า --> นำมานุ่งห่มได้โดยตรง
ซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ --> นำมาเพิ่มความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตได้โดยตรง
หลักทรัพย์ที่ซื้อเพื่อการลงทุน (อาทิ หลักทรัพย์ พันธบัตร) ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางตรงได้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อราคาของหลักทรัพย์นั้นปรับตัวสูงขึ้น หรือหลักทรัพย์นั้นสร้างกระแสเงินสดให้แก่นักลงทุน ซึ่งหากมองในมุมนี้การที่หลักทรัพย์มีราคาถูกอย่างน่าเหลือเชื่อ (เปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า) นั่นหมายความว่าตลาดได้ตัดสินแล้วว่าหลักทรัพย์ตัวดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะแก่การลงทุน เนื่องด้วยเหตุผลจากปัจจัยภายนอก (อาทิ พฤติกรรมของตลาดโลก ข่าวสารต่างๆ ฯลฯ) คุณภาพหลักทรัพย์ หรือศักยภาพของตัวบริษัทเอง
เหล่านี้ก่อให้เกิดแรงขายปริมาณมหาศาลอันจะส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอีก ดังนั้นการที่นักลงทุนเข้าลงทุนในจังหวะเวลาดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้สูงที่นักลงทุนจะประสบผลขาดทุนอย่างมากในเวลาต่อมา
2. ราคาของหลักทรัพย์เคลื่อนที่เป็นแนวโน้ม
การที่นักลงทุนสามารถซื้อหลักทรัพย์ได้ในราคาที่ถูกอย่างมากเมื่อเทียบกับราคาในอดีต เป็นผลจากการที่ตลาดนั้นเต็มไปด้วยอุปทานส่วนเกิน (Excess Supply) ปริมาณมากจนกลายเป็นแรงขายกดดันราคาให้เคลื่อนที่ลงอย่างต่อเนื่องเป็นแนวโน้มขาลง
พฤติกรรมของราคาหลักทรัพย์นั้นมีแรงเฉื่อย (Inertia) กล่าวคือ ตลาดจะเคลื่อนที่ไปตามแนวโน้มใดแนวโน้มหนึ่งจนกว่าจะมีเหตุปัจจัยมากระทบจึงจะเปลี่ยนทิศ นั่นหมายความว่าหากนักลงทุนวิเคราะห์พฤติกรรมของราคาหลักทรัพย์ไม่แม่นยำพอ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าลงทุนพลาด เนื่องจากเข้าใจว่าราคาหลักทรัพย์ ณ ปัจจุบันต่ำมากแล้วเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า ดังเช่นตัวอย่างจากภาพด้านล่างนี้
จากภาพจะเห็นว่าราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในที่นี้จะแบ่งออกเป็นสามช่วงเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ในช่วงแรกนักลงทุนอาจเข้าใจว่าราคาหลักทรัพย์ถูกลงกว่าช่วงเวลาก่อนหน้าถึง 40% แล้ว จึงทำการเข้าซื้อ ทว่าในเวลาต่อมาราคาหลักทรัพย์กลับปรับตัวลดลงอีกถึง 65% และ 86% ตามลำดับ ดังนั้นนักลงทุนจึงควรวิเคราะห์แนวโน้มหลักทรัพย์ให้เฉียบขาด ไม่ควรคำนวณเพียงแค่ราคาหลักทรัพย์ ณ ปัจจุบันว่าถูกกว่าราคาในอดีตแค่ไหน
ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงควรเปลี่ยนแนวคิดการลงทุนจาก “ซื้อถูก-ขายแพง” เป็น “ซื้อแพง-ขายแพงกว่า” เพราะแม้จะซื้อหลักทรัพย์ในราคาที่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับราคาในช่วงเวลาก่อนหน้า ทว่าหากหลักทรัพย์อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นก็จะเป็นการเข้าซื้อหลักทรัพย์ในช่วงที่ตลาดมีอุปสงค์ส่วนเกิน (Excess Demand) ปริมาณมาก อันเป็นปัจจัยที่จะผลักดันราคาหลักทรัพย์ให้ปรับตัวสูงขึ้นอีกในอนาคต
ราคาหลักทรัพย์จะถูกหรือแพง (เมื่อเทียบกับราคาหลักทรัพย์ในช่วงเวลาก่อนหน้า) ย่อมมีเหตุผลเสมอ ทั้งนี้ทั้งนั้นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีอุปสงค์ส่วนเกินปริมาณมากย่อมดีกว่าการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีอุปทานส่วนเกิน ในโลกของการลงทุน “ของถูก” จึงใช่ว่าจะเป็น “ของดี” เสมอไป
ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล
เทรดเดอร์อิสระ