Chapter 5 : ทำไมต้องมีการเก็บสะสมหลักทรัพย์ (Accumulation)
คำถามยอดนิยมที่นักลงทุนมือใหม่มักสงสัย เมื่อเริ่มศึกษาวิธีการวิเคราะห์พฤติกรรมของตลาดด้วย Price Action และ Volume คือ “เหตุใดนักลงทุนรายใหญ่ถึงต้องทำการซื้อเก็บสะสมหลักทรัพย์ ซื้อไล่ราคาขึ้น(ปั่นราคาขึ้น)ไปเลยไม่ได้หรือ?” ฟังแล้วดูเป็นคำถามง่ายๆที่ไม่น่าจะต้องถาม แต่หากลองวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน คำถามนี้ถือเป็นหนึ่งในคำถามที่จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจพฤติกรรมของตลาดได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่มีความแม่นยำและเฉียบคม
เมื่อต้องการทราบว่าเหตุใดการเก็บสะสมหลักทรัพย์ถึงเป็นสิ่ง “จำเป็น” สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนต้องลองจินตนาการถึงการไล่ราคาหลักทรัพย์โดยที่นักลงทุนรายใหญ่มิได้ทำการเก็บสะสมมาล่วงหน้าก่อน ว่าสภาพจะเป็นเป็นเช่นไร
ยกตัวอย่างผ่านหลักทรัพย์ที่เป็นที่รู้จักกันมากตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชื่อ Advance Info Service (Ticker : ADVANC) โดยหากเราลองพิจารณาที่การวาง BID หรือราคาเสนอซื้อ (หากนักลงทุนต้องการขายต้องขายราคานี้) OFFER หรือราคาเสนอขาย (หากนักลงต้องการซื้อสามารถซื้อได้ที่ราคานี้) จะเห็นได้ว่ามีการส่งคำสั่งรอซื้อ (BID) และรอขาย (OFFER) อยู่โดยเฉลี่ยในแต่ละระดับราคาประมาณ 300,000 หุ้น และราคาสามารถเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงได้ครั้งละ 0.5 บาท
หมายความว่าหากนักลงทุนรายใหญ่ต้องการที่จะทำราคาหลักทรัพย์ขึ้นไป 1 ช่อง(0.5 บาท) นักลงทุนรายใหญ่ต้องทำการซื้อหุ้นที่ตั้งรอขายทั้งหมด (300,000 หุ้นโดยประมาณ) โดยใช้เงินขั้นต่ำประมาณ 300,000 * 176 = 52,800,000 บาท
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดในการลงทุนก็ตาม สมมุติว่าหากนักลงทุนรายใหญ่คาดการณ์ว่า ADVANC จะเคลื่อนที่จากราคาปัจจุบัน (176 บาท) ไปที่ราคาเป้าหมาย (250 บาท) เงินขั้นต่ำสุดที่นักลงทุนรายใหญ่ต้องใช้ในการไล่ราคา ADVANC จะอยู่ที่
ด้วยสมุมติฐานดังกล่าว หากนักลงทุนรายใหญ่ทำราคาขึ้นไปในคราวเดียวจะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ (176+250)/2 = 213 บาท ด้วยจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 44,700,000 หุ้น แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่นักลงทุนรายใหญ่จะได้ราคาเฉลี่ยนี้ เนื่องจากยิ่งราคาของหลักทรัพย์สูงขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีนักลงทุนในตลาดอยากขายทำกำไรมากขึ้นเท่านั้น ปริมาณหุ้นที่นักลงทุนรายใหญ่ต้องซื้อเพื่อไล่ราคาขึ้นในช่วงหลังที่ราคาค่อนข้างแพง (ราคาเข้าใกล้เป้าหมายที่ 250 บาท) จึงจำเป็นต้องมากกว่าปริมาณหุ้นที่นักลงทุนรายใหญ่ซื้อในตอนต้นที่ราคาถูก (176 บาท) ทุนเฉลี่ยจึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 220-230 บาท
แผนภาพการเคลื่อนที่ของเงินทุนในตลาดโดยนักลงทุนรายใหญ่
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าด้วยการไล่ราคาหลักทรัพย์ขึ้นไปในทันทีโดยไม่ทำการเก็บสะสมก่อนนั้นไม่สามารถสร้างกำไรให้กับนักลงทุนรายใหญ่ได้เท่าที่ควร เนื่องด้วยต้นทุน 230 บาท กับปริมาณหุ้นมหาศาลที่นักลงทุนรายใหญ่ถืออยู่โดยที่ไม่ทราบด้วยซ้ำ ว่าหลังจากทำการไล่ราคาขึ้นไปแล้วจะสามารถขายหลักทรัพย์ที่ถือในราคาที่ดีพอได้หรือไม่ (เนื่องจากแรงขายที่มีในตลาดจากการไล่ราคาอาจทำให้ราคาหลักทรัพย์ตกลง ไปไม่ถึงราคาเป้าหมายของนักลงทุนรายใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นหากนักลงทุนรายใหญ่ต้องการขายหุ้นที่ถืออยู่ในทันที ก็จะทำให้ราคาตกลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากไม่มีนักลงทุนมาซื้อหุ้นต่อในจำนวนที่มากพอ) นี่คือสาเหตุว่าทำไมนักลงทุนรายใหญ่จึงต้องทำการกระจายหลักทรัพย์ (จะกล่าวถึงในบทความถัดไป) ซึ่งหากไม่มีแรงซื้อจากตลาด (นักลงทุนรายอื่นในตลาดไม่สนใจซื้อเนื่องจากคิดว่าราคาสูงเกินไป) นักลงทุนรายใหญ่อาจจะต้องจำยอมขายในราคาที่ต่ำว่าทุน ซึ่งด้วยปริมาณหุ้นจำนวนนี้ถือว่าเป็นหายนะสำหรับนักลงทุนรายใหญ่เลยทีเดียว
จะดีกว่าไหมหากนักลงทุนรายใหญ่เลือกที่จะทำการเก็บสะสมหลักทรัพย์ในราคาต่ำจำนวนมาก เพื่อที่ตอนไล่ราคาขึ้นทุนเฉลี่ยของนักลงทุนรายใหญ่จะไม่สูงมากจนเกินไป
ยกตัวอย่างเช่นหากนักลงทุนรายใหญ่ทำการเก็บสะสมหลักทรัพย์ก่อนไล่ราคาขึ้นด้วยทุนเฉลี่ยประมาณ 180 บาทต่อหุ้น เป็นจำนวนหุ้นในปริมาณที่เท่ากันกับจำนวนหุ้นที่ต้องซื้อเมื่อทำการไล่ราคาหลักทรัพย์ (44,700,000 หุ้น) ต้นทุนเฉลี่ยที่นักลงทุนรายใหญ่จะได้รับจะเป็นดังต่อไปนี้
หากใช้ข้อสมมุติฐานเดียวกันกับกรณีก่อนว่ายิ่งราคาสูงขึ้นเท่าไหร่ นักลงทุนรายใหญ่ยิ่งต้องซื้อหุ้นในราคาที่แพงขึ้นและในจำนวนที่มากขึ้นเท่านั้น ต้นทุนเฉลี่ยของนักลงทุนรายใหญ่จะไปกระจุกตัวอยู่ที่ประมาณ 200-210 บาทต่อหุ้น ดังนั้นการเก็บสะสมหลักทรัพย์จึงเป็นสิ่ง “จำเป็น” ที่นักลงทุนรายใหญ่ต้องทำเพื่อที่จะสามารถทำกำไรได้มากขึ้น และลดความเสี่ยงในการขาดทุนลง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักลงทุนจะสังเกตเห็นว่าในช่วงตลาดขาลง อยู่ดีๆราคาหลักทรัพย์ก็จะหยุดอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไปไหนและเคลื่อนตัวออกข้างนานหลายเดือน ซึ่งถ้าหากนักลงทุนวิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วย Price Action และ Volume ก็จะสามารถทราบได้ว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวมีการเก็บสะสมของนักลงทุนรายใหญ่หรือไม่
คำถามสำคัญที่ตามมาคือ “เหตุใดนักลงทุนรายใหญ่จึงกล้าที่จะลงทุนเก็บสะสมหุ้นจำนวนมากในตลาดขาลง” คำถามดังกล่าวคงไม่มีใครตอบได้ยกเว้นตัวของนักลงทุนรายใหญ่เองแต่โดยส่วนมากแล้วจะหนีไม่พ้นเหตุผลหลัก 2 ประการดังนี้
การใช้ข้อมูลภายในที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน (Insider Trading)
หมายถึงการที่นักลงทุนรายใหญ่รู้ข้อมูลภายในที่เป็นผลบวกต่อบริษัทล่วงหน้า ก่อนที่บริษัทนั้นๆจะประกาศให้สาธารณชนทราบ และหาประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเก็บสะสมหุ้นก่อนที่บริษัทจะประกาศข่าวดีให้สาธารณชนทราบ หรือเทขายหุ้นอย่างรวดเร็วก่อนบริษัทจะประกาศข่าวร้ายให้สาธารณชนทราบ เนื่องจากนักลงทุนรายใหญ่นั้นมีเงินลงทุนมหาศาลจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการเข้าถึงข้อมูลที่สาธารณชนคนธรรมดาทั่วไปเข้าถึงไม่ได้
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing)
เปรียบเสมือนการซื้อของถูกโดยเปรียบเทียบราคาของหลักทรัพย์กับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เช่น ความสามารถในการทำกำไร ความสามารถในการควบคุมต้นทุน ศักยภาพในการแข่งขัน กระแสเงินสดที่ไหลเข้า-ออกจากบริษัท เป็นต้น หากมูลค่าที่ได้จากการคำนวณราคาบนปัจจัยพื้นฐาน สูงกว่าราคาหลักทรัพย์ในปัจจุบันมาก ก็มีความน่าสนใจในการเข้าลงทุนเพื่อทำกำไรจากหลักทรัพย์ในระยะยาว ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดในการคำนวณหาความคุ้มค่าจากการลงทุนในหุ้นคือการคำนวณมูลค่าผ่านเงินปันผลที่บริษัทจ่ายและเงินที่ต้องใช้ในการซื้อหุ้นตัวนั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
หากนักลงทุนทำการวิเคราะห์ผลตอบแทนผ่านเงินปันผลของหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอและพอใจกับผลตอบแทน 8.33% ต่อปี นักลงทุนก็สามารถลงทุนในหุ้นตัวดังกล่าวได้ในทันที ในทางกลับกันหากลองพิจารณาจากความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทน 10% ต่อปี หุ้นที่ราคา 120 บาทจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุน 12 บาทต่อหุ้น หากหุ้นดังกล่าวจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนน้อยกว่า 12 บาทต่อหุ้น นักลงทุนไม่ควรลงทุนในหุ้นดังกล่าวเนื่องจากผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับจะน้อยกว่าผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการ (10%)
ไม่ว่านักลงทุนรายย่อยจะพยายามพลักดันราคาหลักทรัพย์ให้เคลื่อนที่เพียงใด ราคาก็แทบจะไม่เคลื่อนที่ เนื่องจากการทำราคาหลักทรัพย์นั้นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่า ที่นักลงทุนจะทำการซื้อขายหลักทรัพย์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนักลงทุนรายใหญ่ หากนักลงทุนทำการวิเคราะห์ตลาดด้วย Price Action และ Volume แล้วคาดการณ์ว่านักลงทุนรายใหญ่กำลังจะทำการไล่ราคาในเวลาอันสั้น นักลงทุนต้องถามตนเองว่า นักลงทุนได้เห็นสัญญาณของการเก็บสะสมหลักทรัพย์ของนักลงทุนรายใหญ่ก่อนหน้านี้หรือไม่ เนื่องจากการเก็บสะสมหลักทรัพย์ในราคาต่ำเป็นสิ่ง “จำเป็น” ที่นักลงทุนรายใหญ่ต้องทำเพื่อเพิ่มกำไรจากการลงทุนและลดความเสี่ยงโดยรวม หากนักลงทุนไม่เห็นสัญญาณดังกล่าวให้นักลงทุนตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า การไล่ราคาที่นักลงทุนคาดการณ์นั้นอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเวลาอันสั้น เนื่องจากนักลงทุนรายใหญ่ยังมิได้ทำการเก็บสะสมหลักทรัพย์ดังกล่าว
ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล
เทรดเดอร์อิสระ