Chapter 6 : ทำไมต้องมีการกระจายหลักทรัพย์ (Distribution)

สืบเนื่องจากบทความที่แล้ว (Chapter 5 : ทำไมต้องมีการเก็บสะสมหลักทรัพย์) หลังจากที่นักลงทุนรายใหญ่ได้ทำการเก็บสะสมและไล่ราคาหลักทรัพย์ขึ้นมาถึงบริเวณราคาเป้าหมาย นักลงทุนรายใหญ่จะเริ่มทำการกระจายหลักทรัพย์ (ทยอยขาย)ให้แก่นักลงทุนรายย่อยเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคาซื้อ (ต้นทุนเฉลี่ยจากช่วงเก็บสะสมและไล่ราคา) และราคาขาย (ราคาเป้าหมายที่นักลงทุนรายใหญ่ต้องการ) แต่นักลงทุนเคยสงสัยไหมว่า “เหตุใดนักลงทุนรายใหญ่จึงต้องทำกำไรผ่านการกระจายหลักทรัพย์ ? ขายหลักทรัพย์ทั้งหมดทิ้งในคราวเดียวเลยไม่ได้หรือ?” นี่ถือเป็นอีกหนึ่งคำถามสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจพฤติกรรมของตลาดได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์และจับจังหวะตลาดให้มีความเฉียบคมมากยิ่งขึ้น


New Average After Accumulation WM.png

การขายหุ้นทั้งหมดที่มีในคราวเดียวอาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับนักลงทุนรายย่อย ทว่ากลับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ หากนักลงทุนลองพิจารณาผ่านตัวอย่างจากบทความที่แล้ว จะเห็นได้ว่านักลงทุนรายใหญ่ได้ทำการเก็บสะสมและไล่ราคาหลักทรัพย์ด้วยจำนวนหุ้นประมาณ 100,000,000 หุ้น ที่ต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 196.5 บาทต่อหุ้น จากรูปตัวอย่างด้านล่างหากนักลงทุนลองสังเกตปริมาณเสนอซื้อ (Bid) และปริมาณเสนอขาย (Offer) ให้ดีจะเห็นถึงปัญหาที่นักลงทุนรายใหญ่ต้องเผชิญ

 
Bid Offer With WM.png
 

นักลงทุนจะสังเกตเห็นว่า มีการส่งคำสั่งเสนอซื้อและเสนอขายในแต่ละช่องราคาโดยเฉลี่ยประมาณ 300,000 หุ้น ซึ่งไม่ว่าราคาหลักทรัพย์ตัวนี้จะเคลื่อนที่จากราคาปัจจุบันไปที่ราคาใด ปริมาณคำสั่งเสนอซื้อและเสนอขายก็จะไม่ออกห่างจากค่าเฉลี่ยที่ 300,000 หุ้นต่อช่องราคามากนัก เนื่องจากค่าเฉลี่ยนี้เป็นธรรมชาติของหลักทรัพย์ดังกล่าว

ดังนั้นหากนักลงทุนรายใหญ่ต้องการขายหลักทรัพย์ที่ราคาเป้าหมาย 250 บาท แม้นักลงทุุนรายใหญ่จะสามารถขายได้ในทันที แต่ก็จะสามารถขายที่ราคา 250 บาทได้ประมาณ 300,000 หุ้นเท่านั้น หากนักลงทุนรายใหญ่ต้องการขายส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมดต่อไปในทันที ก็ต้องจำยอมขายในราคาที่ถูกลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากปริมาณคำสั่งเสนอซื้อในตลาดอาจมีไม่มากพอที่จะดึงราคาขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งขายของนักลงทุนรายใหญ่ให้ได้ราคาสูงตามที่นักลงทุนรายใหญ่ต้องการ

RML Crash With WM.png

นี่ถือเป็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ที่นักลงทุนรายใหญ่ให้ความสำคัญมาก เนื่องจากหากไม่มีนักลงทุนรายอื่นมาซื้อหลักทรัพย์ต่อจากนักลงทุนรายใหญ่ในราคาที่นักลงทุนรายใหญ่ต้องการขาย ราคาของหลักทรัพย์ตัวนั้นก็จะต่ำลงจนนักลงทุนรายใหญ่อาจต้องยอมขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาเป้าหมาย

หากไม่ได้มีเหตุการณ์สุดวิสัยใดๆ (เหตุการณ์ไม่คาดคิดจากปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์เช่นการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบริษัท) การขายหุ้นทั้งหมดในทันทีที่ราคาตลาดจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนรายใหญ่จะ “ไม่ทำโดยเด็ดขาด” เนื่องจากคำสั่งขายในปริมาณมากของนักลงทุนรายใหญ่จะทำให้ราคาหลักทรัพย์ตกลงอย่างรวดเร็ว “ทำให้นักลงทุนรายย่อยตื่นตระหนก” จนไม่กล้าซื้อหลักทรัพย์ต่อจากนักลงทุนรายใหญ่ ราคาหลักทรัพย์จึงต่ำลงไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ผลกำไรจากการขายลดลงมหาศาลหรืออาจถึงขั้นขาดทุนได้

Wrong Distribution Flow With WM.png

ด้วยเหตุนี้ วิธีที่นักลงทุนรายใหญ่ทำเพื่อรักษาระดับราคาขายให้อยู่ในช่วงราคาที่รับได้ คือ “การขายไป พยุงไป” หรือ “การกระจายหลักทรัพย์ (ทยอยขาย)” นั้นเอง

การ “ขายไป พยุงไป” เป็นกลยุทธ์ที่นักลงทุนรายใหญ่ใช้ในการกระจายหลักทรัพย์ให้นักลงทุนรายย่อย โดยการสร้างกรอบราคาขึ้น ณ บริเวณราคาเป้าหมาย โดยทุกครั้งที่ราคาเข้าใกล้หรืออยู่ที่บริเวณด้านบนของกรอบราคา (ราคาที่นักลงทุนรายใหญ่ต้องการขาย) นักลงทุนรายใหญ่จะทำการขายหลักทรัพย์ในปริมาณมหาศาลให้กับนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการซื้อเพราะ “กำลังโลภ” หวังว่าราคาหลักทรัพย์จะเคลื่อนที่สูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ กระทั่งราคาเคลื่อนที่กลับลงมาบริเวณด้านล่างของกรอบราคา (ราคาขายที่ต่ำที่สุดที่นักลงทุนรายใหญ่รับได้) นักลงทุนรายใหญ่จะเริ่มทำการซื้อหลักทรัพย์เพื่อพยุงราคาไม่ให้ลดต่ำลงไปกว่านี้จากแรงขายในตลาด กระทั่งแรงขายเริ่มหมดและราคาเริ่มหยุดเคลื่อนที่ลง การพยุงราคาจึงเป็นการป้องกันไม่ให้ราคาตกลงมากเกินไปจนนักลงทุนรายย่อยตระหนก เพื่อรักษาระดับราคาขายเอาไว้

IVL Distribution With WM.png

หลังจากนั้นนักลงทุนรายใหญ่จะปล่อยให้นักลงทุนรายย่อยช่วยกันผลักดันราคาให้เคลื่อนที่ขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อยผ่านความโลภว่า “ราคาหลักทรัพย์หยุดเคลื่อนที่ลงแล้ว และกำลังจะกลับตัวขึ้นไป” โดยนักลงทุนรายใหญ่จะช่วยซื้อบ้างเล็กน้อยเพื่อปั่นราคาขึ้นเป็นการกระตุ้นความโลภของนักลงทุนรายย่อย (จุดนี้จะแตกต่างจากช่วงไล่ราคาที่นักลงทุนรายใหญ่จะซื้อไล่ราคาหลักทรัพย์อย่างรวดเร็วโดยไม่ได้คำนึงถึงราคาเข้าซื้อมากนัก เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่าตนเองสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อ) เมื่อราคาเคลื่อนที่กลับขึ้นมาถึงบริเวณด้านบนของกรอบ นักลงทุนรายใหญ่ก็จะทำการขายหลักทรัพย์อีกครั้ง เป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไป จนกว่านักลงทุนรายใหญ่จะขายหลักทรัพย์ที่ถืออยู่จนหมด

Distribution Flow With WM.png

เมื่อนักลงทุนรายใหญ่ขายหลักทรัพย์ที่ถืออยู่จนหมด ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพยุงราคาอีกต่อไป จึงเป็นเหตุให้หลังจากที่นักลงทุนกระจายหลักทรัพย์เสร็จ ราคาหลักทรัพย์จะเปลี่ยนผ่านจาก “ช่วงกระจายหลักทรัพย์ (Distribution)” เข้าสู่ “ช่วงทุบราคา (Mark down)” ราคาหลักทรัพย์จะเคลื่อนที่ลงอย่างรวดเร็วและตลาดจะเปลี่ยนเป็นตลาดขาลงอย่างสมบูรณ์

GPSC Distribution with WM.png

การที่นักลงทุนเห็นกรอบราคาและสามารถวิเคราะห์ได้ว่ากรอบราคาดังกล่าวเป็นกรอบราคาที่มีลักษณะแบบ Distribution หรือกรอบราคาที่มีลักษณะแบบ Accumulation เป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญมากที่นักลงทุนควรฝึกฝนให้ชำนาญ เนื่องจากหากนักลงทุนคาดการณ์ว่าราคาหลักทรัพย์จะเคลื่อนที่ขึ้น นักลงทุนควรจะเห็นการเก็บสะสมหลักทรัพย์ของนักลงทุนรายใหญ่ผ่านกรอบราคาแบบ Accumulation แต่หากนักลงทุนคาดการณ์ว่าราคาหลักทรัพย์จะเคลื่อนที่ลง นักลงทุนควรจะเห็นการกระจายหลักทรัพย์ผ่านกรอบราคาแบบ Distribution

Dry+Cut+Portrait+small.jpg

ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล

เทรดเดอร์อิสระ

 

Social Links

 

Recent Posts

Previous
Previous

Chapter 7 : Wyckoff Method พิมพ์เขียวสู่ความสำเร็จของการลงทุน

Next
Next

Chapter 5 : ทำไมต้องมีการเก็บสะสมหลักทรัพย์ (Accumulation)