Chapter 4 : ทำไมนักลงทุนจึงควรใช้ Volume ประกอบการวิเคราะห์ Price Action
เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า Volume (ปริมาณการซื้อขาย) หมายความว่าอย่างไร
Volume หมายถึงปริมาณการซื้อขายจริงที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ ปริมาณการซื้อขายในที่นี้จะมีหน่วยเป็นอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่ทำการซื้อขายนั้น หากเป็นหุ้นก็จะมีหน่วยเป็นหุ้น หากเป็นหน่วยลงทุนก็จะมีหน่วยเป็นหน่วย โดยปริมาณการซื้อขายที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้มของราคาหลักทรัพย์นั้นจะเป็นปริมาณซื้อขายรายวัน ยกตัวอย่างเช่น Volume = 100,000,000 หมายความว่าในวันนั้นมีการซื้อขายเปลี่ยนมือหลักทรัพย์ดังกล่าว 100,000,000 หุ้น
Volume จึงสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องยืนยันความต้องการของตลาดได้ ว่าตามหลักการ อุปสงค์ อุปทาน ว่าตลาดมีแนวโน้มจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางใด หากในตลาดมีความต้องการซื้อมากกว่าความต้องการขาย ราคาตลาดก็มีแนวโน้มที่จะขยับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกันหากในตลาดมีความต้องการขายมากกว่าความต้องการซื้อ ราคาตลาดก็มีแนวโน้มที่จะขยับตัวลง
เมื่อนักลงทุนเข้าใจแล้วว่า Volume หมายความว่าอย่างไร เรามาดูกันว่าเหตุใดนักลงทุนจึงควรนำ Volume เข้ามาใช้ประกอบการวิเคราะห์หลักทรัพย์ โดยความได้เปรียบที่นักลงทุนจะได้ หากนำ Volume มาวิเคราะห์ร่วมกับ Price Action มีด้วยกันหลักๆ 3 ประการ
1.ยืนยันการเคลื่อนที่ของราคา และทำให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของนักลงทุนรายใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่หรือรายย่อย หากเข้ามาทำการซื้อขายในตลาด Volume จะถูกบันทึกไว้โดยตลาดกลาง หมายความว่านักลงทุนรายใหญ่ที่มี ความรู้ ทักษะ และ เงินลงทุนจำนวนมหาศาล จนสามารถควบคุมราคาหลักทรัพย์ได้จะ “ไม่สามารถปกปิดพฤติกรรมการซื้อขาย” ของตนได้
หากนักลงทุนรายใหญ่คาดการณ์ว่า หลักทรัพย์มีแนวโน้มสูงที่จะเคลื่อนที่ขึ้น นักลงทุนรายใหญ่จะเริ่มเข้ามาทำการเก็บสะสมหลักทรัพย์ด้วยคำสั่งซื้อจำนวนมาก ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นเป็น Volume จำนวนมหาศาล ดังนั้นนักลงทุนจึงสามารถใช้การวิเคราะห์ Price Action และ Volume เป็นไพ่ตายในการ “สังเกต" พฤติกรรมของหลักทรัพย์ได้ว่า “นักลงทุนรายใหญ่ต้องการทำอะไรในตลาด” เพื่อที่นักลงทุนจะสามารถทำการซื้อขายไปในทิศทางเดียวกันได้
สาเหตุที่นักลงทุนต้องซื้อขายหลักทรัพย์ไปในทิศทางเดียวกันกับนักลงทุนรายใหญ่ นั่นก็เป็นเพราะว่า ลำพังการซื้อขายหลักทรัพย์จากนักลงทุนรายย่อยเพียงอย่างเดียว แทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะส่งผลต่อราคาของหลักทรัพย์ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของเงินลงทุน (เงินที่ใช้ลงทุนในหลักทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งจากนักลงทุนรายย่อยรวมกันทั้งหมด ก็อาจมีไม่เท่าเงินลงทุนจากนักลงทุนรายใหญ่เพียงคนเดียว อีกทั้งทิศทางการซื้อขายจากนักลงทุนรายย่อยก็มิได้เป็นไปในทางเดียวกัน) จึงเป็นการดีกว่าที่นักลงทุนจะซื้อขายหลักทรัพย์ไปในทิศทางเดียวกันกับ “คนทำราคา”
ตัวอย่างพฤติกรรมที่สามารถอ่านได้จากการวิเคราะห์ Price Action และ Volume เช่น
การเก็บสะสมหลักทรัพย์ (Accumulation)
การกระจายหลักทรัพย์ (Distribution)
การไล่ราคา (Markup)
การทุบบราคา (Markdown)
นอกจากนั้นนักลงทุนยังสามารถใช้ Volume เป็นเครื่องมือใน “การยืนยันทิศทาง” การเคลื่อนที่ผ่าน แท่งเทียน (CandleStick) ได้อีกด้วยซึ่งศาสตร์ในการวิเคราะห์ดังกล่าวมีชื่อว่า “Volume-Spread Analysis (VSA)” โดย VSA จะทำการเปรียบเทียบ ขนาดการเคลื่อนที่ของราคา (Spread) กับ ปริมาณการซื้อขาย (Volume) ในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อวิเคราะห์ว่าการเคลื่อนที่ดังกล่าวว่า เป็นไปตามหลักการ “The Law of Effort” หรือไม่ (เป็นหลักการพื้นฐาน 1 ใน 3 ข้อของ Wyckoff Methodology จะมีการกล่าวถึงในบทความต่อๆไป) ซึ่งกฎดังกล่าวมีใจความว่า Spread ที่กว้าง ควรมีการสนับสนุนจาก Volume ในปริมาณที่สูงพอๆกัน ในทางกลับกัน Spread ที่แคบ ควรมี Volume ในปริมาณที่น้อยพอๆกัน จึงเกิดเป็นการอ่าน Volume Spread พื้นฐาน 4 แบบ:
Spread กว้าง + Volume สูง = ปกติ (ความน่าจะเป็นสูงที่จะไปต่อ)
มีการสู้กันของแรงซื้อและแรงขาย แต่แรงจากฝั่งหนึ่งมากกว่าอีกฝั่งหนึ่งมาก (มีการซื้อมากกว่า หรือมีการขายมากกว่า) จนทำให้ราคาเคลื่อนที่ไปไกลในทิศทางเดียว เนื่องจากทั้งสองฝ่ายได้ใช้เงินลงทุนทีมีสู้กันอย่างเต็มที่แล้ว แต่ฝ่ายหนึ่งแพ้ (ฝ่ายที่ต้องการขาย ขายหุ้นที่ตนมีออกไปหมดแล้ว ฝ่ายที่ต้องการซื้อใช้เงินทุนที่ตนมีซื้อไปหมดแล้ว)
Spread กว้าง + Volume ต่ำ = ผิดปกติ (ความน่าจะเป็นต่ำที่จะไปต่อ)
ความผิดปกตินี้ เกิดจากการที่แรงซื้อและแรงขาย “ไม่ได้สู้กันอย่างจริงจัง” โดยฝั่งหนึ่งไม่มีความสนใจในการซื้อขายเนื่องจากมองว่าราคาไม่ดีพอ (ไม่สูงพอสำหรับฝั่งขาย หรือ ไม่ต่ำพอสำหรับฝั่งซื้อ) จึงทำให้ราคาเคลื่อนที่ไปไกล แต่ปริมาณการซื้อขายต่ำ (คือมีแต่คนขาย หรือมีแต่คนซื้อ) ความน่าจะเป็นที่ราคาจะลงต่อหรือขึ้นต่อจึงต่ำลงเนื่องจากฝ่ายหนึ่งไม่มีความสนใจซื้อขาย (ยังไม่ได้ลองสู้กันจริงๆว่านักลงทุนฝั่งซื้อหรือฝั่งขาย ฝั่งใดที่มีกำลังในการควบคุมตลาดมากกว่ากัน) ซึ่งหากราคาน่าสนใจเมื่อใดนักลงทุนเหล่านั้นก็อาจกลับเข้ามาในตลาดอีกในอนาคต
Spread แคบ + Volume สูง = ผิดปกติ (ความน่าจะเป็นสูงที่จะกลับตัว)
มีการสู้กันของแรงซื้อและแรงขาย “อย่างบ้าคลั่ง” แต่การที่ราคาไม่ขยับไปไหน เพราะแรงฝั่งตรงข้ามสูงพอๆกัน ราคาจึงโดน “กัก” ไว้ที่เดิม ซึ่งหากแรงฝั่งตรงข้ามไม่ได้สูงพอจนสามารถหยุดการเคลื่อนที่ของราคาได้ ราคาก็จะเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวจนเกิดเป็น Spread ที่กว้าง
Spread แคบ + Volume ต่ำ = ปกติ (ความน่าจะเป็นสูงที่จะไม่ไปต่อ)
สภาวะเช่นนี้ถือว่าปกติ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ตลาดขาดแรงขับเคลื่อนจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อไม่ความต้องการที่จะซื้อหรือขายราคาจึงแทบไม่เคลื่อนที่
2.ส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนล่วงหน้าได้เร็วกว่าการวิเคราะห์ Price Action เพียงอย่างเดียว
การวิเคราะห์ Volume ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ Price Action จะช่วยเพิ่มมิติในการวิเคราะห์ ว่าแท่งเทียงแต่ละแท่งมีแรงสนับสนุนการเคลื่อนที่มากน้อยเพียงใด เจออุปสรรคในการเคลื่อนที่หรือไม่ นักลงทุนจึงสามารถจับสัญญาณเตือนในการเคลื่อนที่ที่ผิดปกติของตลาดได้รวดเร็วกว่าการวิเคราะห์ Price Action เพียงอย่างเดียว
ตัวอย่าง
จากตัวอย่างนักลงทุนจะเห็นว่าหากเราทำการวิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วย Price Action เพียงอย่างเดียวจะเปรียบเสมือนนักลงทุนวิเคราะห์หลักทรัพย์โดย “ปิดตาหนึ่งข้าง” เนื่องจากการเคลื่อนไหวในราคาจากกรณีตัวอย่างไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจมากนัก แต่หากนักลงทุนวิเคราะห์ Volume ร่วมกับ Price Action จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าราคา “น่าจะติดแนวต้านขนาดใหญ่” เนื่องจากมีการซื้อขายในปริมาณที่สูงที่สุดเท่าที่ผ่านมา แต่ราคาหลักทรัพย์กลับไม่ขยับขึ้นแม้แต่น้อย อีกทั้งราคาปิดของแท่งเทียนยังปิดที่บริเวณต่ำสุดของวัน แสดงให้เห็นว่า “แรงขายชนะแรงซื้อ” มีความเป็นไปได้สูงที่ Volume ดังกล่าวจะเป็น “Volume ขาย” จากนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งหลักทรัพย์ที่ถูกขายออกไปนี้ก็กระจายไปสู่นักลงทุนรายย่อยในตลาด เมื่อรู้เช่นนี้แล้วนักลงทุนก็ควร “ขายทำกำไร” ออกมาก่อนเพื่อเป็นการลดความเสี่ยง
3.เพิ่มความแม่นยำใน การจับจังหวะ (Timing) ตลาดให้กับนักลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปตามความเชื่อของนักลงทุนรายใหญ่ เมื่อนักลงทุนรายใหญ่ต้องการเก็บสะสมหลักทรัพย์ให้ได้ปริมาณตามที่ต้องการ นักลงทุนรายใหญ่จะเริ่มทำการ “ไล่ราคา” ด้วยคำสั่งซื้อปริมาณมหาศาล ส่งผลให้ตลาดเคลื่อนที่ขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้นอย่างผิดสังเกต ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้ข้อสังเกตุในพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อช่วยจับจังหวะลงทุนในตลาดได้ การที่นักลงทุนรายใหญ่ได้ “ลงเงิน” ในตลาด เป็นการแสดงถึงความมั่นใจและพร้อมในการไล่ราคา ดังนั้นการเห็นราคาเคลื่อนที่ขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับ Volume ที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นสัญญาณเชิงบวกที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ
ตัวอย่าง
ด้วยการวิเคราะห์ Volume เพิ่มเติมจากการวิเคราะห์ Price Action จะเห็นได้ว่าราคาหลักทรัพย์มีแนวโน้มในการกลับตัวสูง (จะกล่าวถึงวิธีการอ่านแนวโน้มในการกลับตัวในบทต่อๆไป) เมื่อหลักทรัพย์มีแนวโน้มในการกลับตัวที่สูง ประกอบกับการเกิดแท่งเทียนสีเขียวขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับ Volume จำนวนมาก นี่จึงเป็นสัญญาเชิงบวกที่ดีที่นักลงทุนสามารถใช้ในการจับจังหวะได้ เนื่องจากนักลงทุนรายใหญ่ได้เริ่มทำการไล่ราคาแล้ว จึงมีความน่าจะเป็นสูงที่ หลังจากนักลงทุนเข้าลงทุนแล้วราคาจะเคลื่อนที่ขึ้นในเวลาอันสั้น
การนำ Volume มาใช้ในการวิเคราะห์ร่วมกับ Price Action นั้นเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักลงทุนไม่ว่าจะเป็น การยืนยัน Story ของ Price Action เพิ่มความแม่นยำในการจับจังหวะตลาด และเตือนให้นักลงทุนทราบล่วงหน้าถึงอันตรายต่างๆที่นักลงทุนอาจพบเจอในการลงทุน นักลงทุนจึงควรศึกษาวิธีการวิเคราะห์ Volume ให้ถ่องแท้เพื่อที่จะสามารถอ่านตลาดได้อย่างแม่นยำและทำกำไรจากตลาดได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล
เทรดเดอร์อิสระ