Introduction : หัวใจของการบริหารการเงินคือการบริหารกระแสเงินสด

ไม่ว่าใครต่างก็ต้องการมี “อิสรภาพทางการเงิน” กันทั้งนั้น อยากจะทำอะไรก็ได้ตามที่ใจปรารถนา ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินๆทองๆอีกต่อไป แต่การที่จะสามารถใช้ชีวิตในรูปแบบดังกล่าวได้ จำเป็นที่จะต้องมีระบบและรากฐานในการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่แข็งแกร่ง เนื่องจากหากขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารการเงินอย่างถูกต้อง แม้จะมีรายได้มากสักเพียงใดก็เป็นการยากที่จะเพิ่มพูนทรัพย์สินที่มีให้งอกเงยขึ้นจนสามารถมีอิสรภาพทางการเงินในแบบที่ต้องการได้


เมื่อพูดถึงการบริหารการเงินส่วนบุคคล สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คือ “การลงทุน” แต่ทราบหรือไม่ว่าโดยหลักการการบริหารการเงินตามแบบสากล อย่าง “สามเหลี่ยมทางการเงิน” การลงทุนนั้นถือเป็นเรื่องท้ายๆที่ควรให้ความสนใจ เนื่องจากโดยเนื้อแท้แล้วการลงทุนไม่ได้มีหน้าที่ในการสร้างรากฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งแต่อย่างใด หากแต่เป็นการพยายามเพิ่มความมั่งคั่งสุทธิด้วยการ “เพิ่มความเสี่ยง” โดยการนำเงินตั้งต้นไปเสี่ยงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าการนำไปฝากไว้ในบัญชีธนาคาร

 
เครดิตรูป : https://www.gennuso.com/individual-planning

เครดิตรูป : https://www.gennuso.com/individual-planning

 

เมื่อลองพิจารณาจากแผนภาพสามเหลี่ยมทางการเงิน จะเห็นว่าสิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางการเงินก็คือ “การบริหารกระแสเงินสด (Cash Management)”

เหตุผลที่นักลงทุนควรบริหารจัดการกระแสเงินสดอย่างเป็นระบบมีด้วยกัน 2 ประการ ดังนี้

  1. ทราบถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเองว่าในชีวิตประจำวัน เรามีลักษณะการใช้จ่ายไปในเรื่องใดบ้าง เพื่อที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์และวางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินที่ถูกต้อง หากเราไม่ทราบถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนและใช้เงินในบัญชีไปเรื่อยๆโดยไม่วางแผน เมื่อถึงสิ้นเดือนเราก็จะตั้งคำถามเดิมๆกับตนเองว่า “เงินหายไปไหนหมด” จำไม่ได้เสียด้วยซ้ำว่าใช้จ่ายไปกับเรื่องใดบ้าง พฤติกรรมเช่นนี้จะนำไปสู่การใช้ชีวิตแบบ “ต้นเดือนกินบุฟเฟต์ สิ้นเดือนกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ซึ่งไม่ส่งผลต่อดีต่อความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

  2. ไม่ว่าเราจะมีรายได้มากสักเพียงใดหากปริมาณรายจ่ายเท่ากับปริมาณรายได้ ก็ไม่มีทางที่จะมีเงินออมเหลือเก็บเพื่อเป้าหมายทางการเงินอื่นๆในอนาคต เราควรให้ความสนใจการ “วางแผนการออม” เป็นอันดับแรก เนื่องจาก “เงินออม” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง หากไม่มีเงินออมเหลือเก็บก็จะไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินผ่านวิธีการต่างๆเหล่านี้ได้

  • การซื้อหนังสือ หลักสูตร หรือการศึกษาต่อ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ -> เพิ่มรายได้

  • การลงทุนในหลักทรัพย์ -> เพิ่มรายได้

  • การวางแผนลดหย่อนภาษี -> ลดรายจ่าย

  • การป้องกันความเสี่ยงผ่านผลิตภัณฑ์ประกัน -> ลดรายจ่าย

การบริหารกระแสเงินสดเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการวางแผนการออม อย่างไรก็ตามเรามักวางแผนการออม โดยคิดเพียงว่า “เมื่อมีรายได้ ใช้จ่ายไปเท่าไหร่ ส่วนที่เหลือก็ออมเท่านั้น” ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากหากเราไม่มุ่งความสนใจไปที่การออมเงินเป็นหลัก เราอาจใช้จ่ายไปเรื่อยๆจนไม่เหลือเงินเก็บเพื่อใช้จ่ายในระยะยาวก็เป็นได้

 
Wrong+Savings+Flow+with+logo.jpg
 

วิธีออมเงินที่ดีคือการออมผ่านทัศนคติแบบ “จ่ายเงินให้ตัวเองก่อน” โดยการนำรายได้มาหักออกด้วยเป้าหมายเงินออมที่เราต้องการเก็บ (คำนวนตามความเป็นจริงที่สามารถทำได้โดยไม่กระทบต่อคุณภาพการใช้ชีวิตมากจนเกินไปเมื่อรวมค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆ) ส่วนที่เหลือจึงค่อยนำไปใช้จ่าย

 
Correct+Savings+flow+with+logo.jpg
 

ซึ่งหากต้องการที่จะเริ่มฝึก “วินัย” ในการออม ก็ควรเริ่มออมที่ 10% ของรายได้ที่ได้รับ เนื่องจาก 10% ของรายได้นั้นจัดว่าเป็นจำนวนที่ไม่ได้มากจนกระทบต่อคุณภาพการใช้ชีวิต จึงสามารถทำให้สำเร็จได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เมื่อเริ่มมีวินัยในการออมแล้ว หากต้องการออมเพิ่มเพื่อเป้าหมายทางการเงินอื่นๆก็สามารถทำได้

วิธีบริหารกระแสเงินสด

อย่างที่ทราบกันดีว่าวิธีที่ดีที่สุดในการบริหารกระแสเงินสดนั้นคือการทำ “บัญชีรายรับรายจ่าย” เนื่องจากข้อมูลจากการทำบัญชีนั้นจะมีความละเอียดสูงจนสามารถนำมาวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายได้ แต่การทำบัญชีรายรับรายจ่ายนั้นต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการบันทึกทุกการใช้จ่ายของตนเองในทุกๆวัน หลายคนจึงไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวและเลิกทำไปในที่สุด สุดท้ายก็กลับไปมีพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบเดิม วิธีที่ดีกว่าในช่วงเริ่มต้นจึงเป็นการบริหารกระแสเงินสดผ่าน “ระบบบัญชีธนาคาร”

ระบบบัญชีธนาคาร

การบริหารกระแสเงินสดผ่านบัญชีธนาคาร คือการวางแผนและคำนวนค่าใช้จ่ายและเงินออมไว้ล่วงหน้า เมื่อมีรายได้เข้ามาเราจะทำการโอนแยกไปเก็บไว้ตามบัญชีต่างๆตามวัตถุประสงค์ที่ได้มีการกำหนดไว้ โดยผูกบัญชีเหล่านั้นผ่านแอพพลิเคชั่น Mobile banking เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ จากนั้นจึงใช้จ่ายเงินในแต่ละบัญชีตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้เท่านั้น โดยบัญชีพื้นฐานที่ทุกๆคนควรมี มีดังต่อไปนี้

  1. บัญชีใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (บัญชัหลัก - รายได้เข้า - รายจ่ายออก)

    เป็นบัญชีหลักที่เราใช้ในการรับรายได้ต่างๆ รวมถึงการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เมื่อมีรายได้เข้าบัญชีนี้เราจะทำการโอนรายได้บางส่วนแยกไปเก็บไว้ในบัญชีอื่นๆคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ตามที่กำหนดไว้ (คำนวนจากค่าครองชีพปัจจุบันว่าสามารถเก็บได้โดยไม่กระทบคุณภาพการใช้ชีวิตมากนัก) เพื่อเป็นการสร้างวินัยและป้องกันการใช้จ่ายเกินแผนที่ได้วางไว้

    เงินที่เหลืออยู่ในบัญชีหลังจากทำการโอนแยกไปเก็บไว้ในบัญชีอื่นๆจะถูกใช้ในการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน โดยเงินจำนวนนี้ได้มีการคำนวนมาก่อนล่วงหน้าแล้วว่าเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆในแต่ละวัน อาทิ ค่าเครื่องดื่ม ค่าอาหาร ค่าที่พักอาศัย ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง ฯลฯ

  2. บัญชีเพื่อการลงทุน (แยกเก็บเป็น % ของรายได้)

    เงินในบัญชีนี้จะถูกใช้เพื่อเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น การลงทุน การศึกษาต่อ การป้องกันความเสี่ยงผ่านประกัน ฯลฯ

  3. บัญชีเงินสดสำรองฉุกเฉิน (แยกเก็บเป็น % ของรายได้)

    เราจำเป็นที่จะต้องเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเผื่อไว้ประมาณ 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายจำเป็นต่อเดือนในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ตกงาน รถเสีย ป่วยหนัก ประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น โดยเราจะทำการเก็บเงินเข้าบัญชีนี้ไปเรื่อยๆจนครบ 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายจำเป็นต่อเดือน เมื่อครบแล้วจึงหยุดทำการโอนเก็บเข้าบัญชีนี้ โดยจะเปลี่ยนไปเก็บรวมเข้ากับบัญชีส่วนการลงทุนเพื่อเป็นการสมทบต่อไป

  4. บัญชีใช้จ่ายตามใจ (แยกเก็บเป็น % ของรายได้)

    เป็นบัญชีที่สำคัญที่สุดแต่หลายคนกลับมองข้ามบัญชีนี้ไป เนื่องจากหากเราหาเงินมามากมายแต่ไม่ได้ใช้จ่ายตามที่ใจต้องการเลย สักวันหนึ่งความอดทนอดกลั้นก็จะหมดลงจนอาจก่อให้เกิดหายนะทางการเงิน ด้วยการนำเงินที่ออมมาทั้งหมดไปใช้จ่ายปรนเปรอตัวเองอย่างหน้ามืดเพื่อสร้างความสุข อันจะเป็นการทำให้เป้าหมายทางการเงินในระยะยาวล้มเหลวได้อย่างง่ายดาย

Flow+With+logo.jpg
Inflow+Decomposition+with+Logo.jpg

หากเรามีวินัยและบริหารจัดการกระแสเงินสดของตนเองได้อย่างเป็นระบบและถูกต้อง ก็จะเปรียบเสมือนการสร้างรากฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งที่เราสามารถต่อยอดเป้าหมายและความสำเร็จทางการเงินได้อย่างง่ายดาย นักลงทุนจึงควรให้ความสำคัญและหมั่นตรวจสอบวิธีการบริหารกระแสเงินสดของตนเองอยู่เสมอ

Dry+Cut+Portrait+small.jpg

ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล

เทรดเดอร์อิสระ

 

Social Links

 

Recent Posts

Previous
Previous

Chapter 1 : การไม่บริหารความเสี่ยงคือสิ่งที่เสี่ยงที่สุด

Next
Next

Chapter 7 : Wyckoff Method พิมพ์เขียวสู่ความสำเร็จของการลงทุน