Chapter 1 : การไม่บริหารความเสี่ยงคือสิ่งที่เสี่ยงที่สุด
เมื่อนักลงทุนสามารถบริหารกระแสเงินสดได้อย่างถูกต้องและเป็นระบบระเบียบดีแล้ว ก็เปรียบเสมือนการที่นักลงทุนมีรากฐานทางการเงินที่แข็งแรงที่สามารถต่อยอดไปให้ถึงเป้าหมายทางการเงินต่างๆที่ต้องการได้ หลังจากนั้นสิ่งที่เปรียบเสมือนเสาเข็มต้นสำคัญที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญก็คือ “การบริหารความเสี่ยง”
ซึ่งความเสี่ยงในที่นี้ครอบคลุมไปถึงเรื่องต่างๆที่อาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลอย่างไม่คาดคิด เช่น
ความเสี่ยงในทรัพย์สินประเภทที่อยู่อาศัย (อัคคีภัย, อุทกภัย) หรือทรัพย์สินประเภทรถยนต์ (อุบัติเหตุ, รถยนต์ชำรุดเสียหาย)
ความเสี่ยงจากการจากไปก่อนวัยอันควรของสมาชิกในครอบครัว ทำให้ครอบครัวขาดกำลังสำคัญในการหารายได้
โดยความเสี่ยงต่างๆก็มีลำดับความสำคัญที่ต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัยของชีวิต แต่มีอยู่ความเสี่ยงหนึ่ง ที่สามารถส่งผลกระทบต่อทุกช่วงวัยของชีวิตได้ นั่นก็คือ “ความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายสุขภาพ”
ค่าใช้จ่ายสุขภาพ คือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาอาการเจ็บป่วยจากสาเหตุต่างๆอาทิ โรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ ฯลฯ เพื่อรักษาสุขภาพให้กลับมาสมบูรณ์แข็งแรงดังเดิม
ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำได้เพียงแต่ลดทอนความเสี่ยงลงเท่านั้น เนื่องจากการจะมีสุขภาพที่ดีได้นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งที่สามารถควบคุมได้ เช่นวิธีการใช้ชีวิต (การนอนหลับ พฤติกรรมการบริโภค การออกกำลังกาย) และที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่นพันธุกรรม หรืออาชีพ (ความเครียดจากการทำงาน ลักษณะงานที่ทำ)
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะสามารถลดทอน “ความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายสุขภาพ” ได้อย่างไร?
หนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ “การทำประกันสุขภาพ” นั่นเอง ซึ่งการทำประกันสุขภาพนั้นมีข้อดีหลักๆด้วยกัน 3 ประการ
1.แนวโน้มการเกิดโรคร้ายแรงต่างๆที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆกับอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรในประเทศไทยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าอัตราการป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆคิดเป็นสัดส่วนหลายเท่าของอัตราการเติบโตเฉลี่ยของจำนวนประชากร ซึ่งสามารถตีความได้ว่าโดยรวมแล้ว คนไทยมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรงต่างๆเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งโรคร้ายแรงเหล่านี้ล้วนใช้เงินมาหศาลในการรักษา เทียบกับค่าครองชีพแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่บ่อยครั้งเรามักจะได้ยินคำกล่าวว่า “หาเงินมาทั้งชีวิตเพื่อเอามาจ่ายค่าหมอ”
2.แนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เปรียบเทียบข้อมูลค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนักสัมพัทธ์ที่ปรับค่าแล้วของผู้ป่วยในจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณะสุขซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากแผนภาพด้านล่างจะเห็นได้ว่าค่ารักษาพยาบาลในช่วงเวลาดังกล่าวเติบโตในอัตราเฉลี่ยที่ 6.48% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลาเดียวกันที่อยู่ในช่วง (-0.9% - 3.81%)
3.ถ่ายโอนความเสี่ยงทางการเงิน
คนส่วนมากมักมองว่าการซื้อประกันสุขภาพนั้นเป็นการ “จ่ายทิ้ง” แต่หากลองพิจารณาในแง่ของการบริหารความเสี่ยงแล้วเรามีทางเลือกอยู่เพียง 2 ทางเท่านั้น
1.ไม่ซื้อประกันสุขภาพ (ยอมรับความเสี่ยงไว้เอง)
ในระยะสั้นแล้วดูเหมือนว่าเราจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจ่ายเบี้ยประกันได้ แต่นั่นก็หมายความว่าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เราจะต้องเป็นคนที่ควักเงินจ่ายเองทั้งหมด ก่อให้เกิดปัญหาหลัก 2 ประการ
ปัญหาสภาพคล่อง
ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดเจ็บป่วยขึ้นเมื่อใด ประกอบกับการที่ค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (คำนวนโดยเปรียบเทียบจากอัตราเงินเฟ้อแล้ว) จึงเป็นการยากที่จะสามารถสำรองค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลได้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าโรงพยาบาลจากเหตุเล็กน้อยหรือใหญ่ จนอาจก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่องจนต้อง “กู้หนี้ยืมสินเพื่อจ่ายค่าหมอ” ได้
วงเงินการรักษาที่ไม่คงที่และยากต่อการวางแผนทางการเงิน
การมีเงินสดสำรองในปริมาณมากไว้ใช้จ่ายในเรื่องค่ารักษาพยาบาลอาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับใครหลายคน แต่หากลองมองในแง่ของการบริหารเงินแล้วอาจไม่ใช่วิธีบริหารเงินที่ดีนัก
เนื่องจากการถือเงินสดนั้นมีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่สูง เพราะเงินจำนวนดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นได้เมื่อเทียบกับการฝากเงินไว้ในธนาคาร
สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่วงเงินในการรักษาพยาบาลจะลดลงเรื่อยๆอย่างรวดเร็วหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เนื่องจากว่าเรามีเงินอยู่อย่างจำกัด ทุกๆครั้งที่เราต้องจ่ายค่ารักษาด้วยตนเอง วงเงินสูงสุดที่เราเตรียมไว้ในการรักษาพยาบาลจะลดลงอย่างรวดเร็วจนอาจไม่เพียงพอต่อการรักษาในครั้งถัดๆไป เนื่องจากอาการเจ็บป่วยหลายอย่างต้องการการรักษาที่ต่อเนื่อง (ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เพียงครั้งเดียว)
ยกตัวอย่างเช่น หากเราเตรียมเงินสดสำรองไว้ใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้น 1,000,000 บาท เมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วย ต้องชำระค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 200,000 บาท เราจะเหลือเงินสำรองสำหรับค่ารักษาพยาบาล 800,000 บาท (1,000,000-200,000) ซึ่งหากเกิดเหตุให้ต้องใช้จ่ายรักษาพยาบาลทั้งหมด 4 ครั้ง วงเงินรักษาก็จะเหลือเพียง 200,000 บาทเท่านั้น (จำนวนครั้งสันนิษฐานขึ้นโดยพิจารณาถึงอายุเฉลี่ยของคนไทย หญิง : 79 ปี, ชาย : 73 ปี (อ้างอิงจาก www.boi.go.th, 2562)
2.ซื้อประกันสุขภาพ (โอนความเสี่ยงให้บริษัทประกัน)
เมื่อเราตกลงทำประกันสุขภาพแล้ว บริษัทประกันที่เราเลือกจะพิจารณาว่าจะรับทำประกันเราหรือไม่ กระทั่งเมื่อเราเริ่มต้นชำระเบี้ยและผ่านระยะรอคอยไปแล้ว (ช่วงเวลาที่บริษัทประกันยังไม่คุ้มครอง เพื่อป้องกันการทำประกันของผู้เอาประกันที่มีโรคมาก่อนแต่ปกปิดข้อมูลกับบริษัท) ความเสี่ยงในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลเกือบทั้งหมดก็จะถูกโอนไปที่บริษัทประกันแทน
ซึ่งนั่นหมายความว่าค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเพียง “เพียงอย่างเดียว” ของเรา ก็คือค่าเบี้ยประกันรายปีที่ชำระไว้กับบริษัทประกัน หากเกิดเหตุไม่คาดฝันใดๆหลังจากนี้ บริษัทประกันจะเป็นคนจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนเราทั้งหมด (เว้นแต่ค่าใช้จ่ายเกินวงเงินตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญา)
การทำประกันสุขภาพจึงเปรียบเสมือนการจ่ายเงิน “เพื่อซื้อความมั่นใจ” ว่าวงเงินที่เราได้เตรียมไว้สำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้นจะ “คงที่และอยู่กับเราไปเรื่อยๆ” ไม่ว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝันใดก็ตาม เนื่องจากถึงแม้ว่าเราจะใช้วงเงินในปีกรมธรรม์ปัจจุบันจนหมด หากแต่เมื่อถึงปีกรมธรรม์ถัดไป วงเงินก็จะกลับมาเท่าเดิมตามที่เราได้ทำสัญญาไว้กับบริษัทประกัน
เมื่อบริษัทประกันเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของเรา เงินสดที่เราเตรียมไว้สำหรับค่ารักษาพยาบาลจึงไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการที่ค่ารักษาจริงอาจมหาศาลอย่างไม่คาดฝัน ฝัน เนื่องจากเบี้ยประกันสุขภาพที่เราต้องชำระตามสัญญาเป็นรายปีนั้นมีความคงที่มากกว่า (ประมาณ 2% ของวงเงินเอาประกัน สำหรับผู้ชายสุขภาพมาตรฐาน อายุ 40 ปี)
หลายคนอาจมีทัศนคติว่าประกันสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นแต่ “ไม่ต้องรีบทำตอนอายุน้อย” เนื่องจากโอกาสในการเป็นโรคต่างๆนั้นต่ำกว่าคนที่มีอายุมาก เอาไว้ไปทำตอนที่อายุมากก็ “ยังไม่สาย” หากแต่นี่เป็นความคิดที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว แม้ว่าคนอายุน้อยมีโอกาสเกิดโรคต่างๆน้อยกว่าจึงดูเหมือนว่าการทำประกันตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นการจ่ายเงินทิ้ง ทว่าเมื่อมองในมุมของบริษัทประกันแล้ว สุขภาพของผู้เอาประกันถือเป็นสาระสำคัญในการพิจารณารับทำประกันสุขภาพ กล่าวคือไม่ว่าอายุของผู้เอาประกันจะเป็นเท่าไหร่ หากมีสุขภาพที่ไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานก็เป็นการยากที่บริษัทประกันจะรับทำประกัน จึงเป็นการดีกว่าที่จะทำประกันสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อยที่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ เนื่องจากหากในอนาคตเกิดเป็นโรคร้ายแรงหรือเรื้อรังขึ้นมา ก็มีโอกาสที่จะไม่สามารถทำประกันสุขภาพไดัอีกตลอดชีวิต
หลายคนอาจมองว่าการทำประกันคือการจ่ายเงินทิ้ง หากแต่ความจริงแล้วเป็นการจ่ายเพื่อซื้อความมั่นคงให้กับชีวิต ว่าวงเงินในการรักษาพยาบาลที่ได้วางแผนไว้จะยังอยู่กับผู้เอาประกันไปตลอดอายุสัญญา ประกันสุขภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรมีไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงและป้องกันปัญหาจากการถูกปฏิเสธการรับประกันด้วยโรคร้ายแรงหรือเรื้อรังที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล
เทรดเดอร์อิสระ