Chapter 7 : Wyckoff Method พิมพ์เขียวสู่ความสำเร็จของการลงทุน
เมื่อนักลงทุนทราบดีแล้วถึงความจำเป็นที่นักลงทุนรายใหญ่ต้องทำการเก็บสะสมและกระจายหลักทรัพย์จนเกิดเป็นกรอบราคาในกราฟแท่งเทียนที่ชัดเจน นักลงทุนจะทราบได้อย่างไรว่ากรอบราคาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกรอบราคาของ การเก็บสะสมหรือการกระจายหลักทรัพย์ อย่างที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ เพราะหากนักลงทุนขาดความรู้และวิธีการในการอ่านภาพรวมของตลาดที่เป็นเหตุเป็นผลและขั้นเป็นตอน สิ่งที่นักลงทุนจะได้จากการวิเคราะห์นั้นก็จะเป็นเพียงการเดาสุ่มที่มีความน่าจะเป็นที่ต่ำจนอาจทำให้ลงทุนผิดพลาดได้
เคราะห์ดีที่ในบรรดาปรัชญาและแนวทางการลงทุนมากมาย ยังมีแนวทางการลงทุนหนึ่งที่ได้นำเอาศาสตร์การวิเคราะห์พฤติกรรมของราคา ผนวกรวมเข้ากับการวิเคราะห์ปริมาณซื้อขาย เพื่อใช้ในการอ่านพฤติกรรมของนักลงทุนรายใหญ่และภาพรวมของตลาด โดยแนวทางดังกล่าวได้รับการทดสอบและพิสูจน์ผ่านระยะเวลากว่า 100 ปีแล้วว่าสามารถใช้ในการทำกำไรและอ่านพฤิตกรรมของตลาดได้เป็นอย่างดี แนวทางดังกล่าวมีชื่อว่า “Wyckoff Method” นั่นเอง
Wyckoff Method
ถูกคิดค้นขึ้นโดย Richard D. Wyckoff นักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จรายแรกๆ ที่สามารถถอดรหัสการอ่านแนวโน้มของหลักทรัพย์ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลและเป็นขั้นเป็นตอน ผ่านการวิเคราะห์ราคาและปริมาณการซื้อขาย ตามหลักการอุปสงค์อุปทาน ซึ่งถือเป็นแก่นแท้ของการเคลื่อนที่ของราคาหลักทรัพย์ จึงเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวสู่ความสำเร็จ ที่นักลงทุนสามารถใช้ในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของหลักทรัพย์ได้
โดย Wyckoff Method มีรากฐานอยู่บนกฎพื้นฐาน 3 ข้อดังนี้
The Law of Supply and Demand (กฎของอุปทานและอุปสงค์)
เมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทาน ราคาของหลักทรัพย์จะเคลื่อนที่ขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากอุปทานมากกว่าอุปสงค์ ราคาของหลักทรัพย์จะเคลื่อนที่ลง โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดในกฎข้อนี้คือ “ปริมาณอุปสงค์และอุปทาน” ซึ่งเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของการเคลื่อนที่ในราคาไม่ใช่ “จำนวนผู้ซื้อและผู้ขาย” เนื่องจากทุกๆคำสั่งซื้อจะถูกจับคู่ด้วยคำสั่งขายในปริมาณที่เท่ากันเสมอ ปริมาณผู้ซื้อและผู้ขายจริงจึงเท่ากันไม่ว่าจะเป็นในกรณีใดก็ตาม
โดยการวิเคราะห์พฤติกรรมของอุปสงค์และอุปทานนั้นสามารถทำได้ผ่านการตีความและเปรียบเทียบกราฟแท่งเทียนของราคาและปริมาณการซื้อขายในแต่ละช่วงเวลา
2.The Law of Cause and Effect (กฎของเหตุและผล)
ทุกๆการเคลื่อนที่ในราคาหลักทรัพย์มีเหตุและมีผลในตัวเอง หากต้องการการเคลื่อนที่ในราคา(ผล) จะต้องมีการสร้างเหตุ (การเก็บสะสมหรือการกระจายหลักทรัพย์) มาก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนมือหลักทรัพย์ครั้งใหญ่ระหว่างนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนรายย่อย โดยตลาดจะทำการสร้าง “เหตุ” ในช่วงที่ตลาดเคลื่อนที่ออกข้าง ในขณะที่นักลงทุนรายใหญ่จะเริ่มทำการเตรียมการให้หลักทรัพย์เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ
ใจความสำคัญของกฎข้อนี้คือ ทุกๆการเคลื่อนที่ในราคา(ผล) จะมีความสัมพันธ์เชิงสัดส่วนโดยตรงกับเหตุที่ได้ถูกสร้างขึ้นก่อนหน้ากล่าวคือ
หากมีการสร้างเหตุมาน้อย การเคลื่อนที่ของราคาก็จะน้อย
หากมีการสร้างเหตุมามาก การเคลื่อนที่ของราคาก็จะมาก
นักลงทุนควรพึงระลึกไว้เสมอว่า การเคลื่อนที่ออกข้างของหลักทรัพย์ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการเก็บสะสมหรือการกระจายหลักทรัพย์เสมอไป นักลงทุนจึงควรมองภาพรวมและวิเคราะห์ตลาดให้ถี่ถ้วนเสียก่อน มิเช่นนั้นอาจเข้าใจผิดและลงทุนในจังหวะที่ผิดพลาดได้
3.The Law of Effort and Result (กฎของความพยายามและผลลัพธ์)
เมื่อต้องการวิเคราะห์ถึงความสามารถในการควบคุมราคาของนักลงทุนรายใหญ่ เราสามารถทำได้ผ่านการเปรียบเทียบการเคลื่อนที่ของราคา(ผลลัพธ์) และปริมาณการซื้อขาย (ความพยายาม) เนื่องจากปริมาณการซื้อขายที่นักลงทุนเห็นนั้นเกิดจากการซื้อขายเปลี่ยนมือของหลักทรัพย์ที่ต้องใช้เงินจริง(ไม่ใช่การตั้งหลอกว่าจะซื้อแล้วดึงออก)ในการแลกเปลี่ยน หากนักลงทุนรายใหญ่ไม่มีความมั่นใจและตั้งใจมากพอ ก็คงไม่นำเงินลงทุนอันมีค่าของตนเข้ามาทำการซื้อขายมากขนาดนี้ ปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของนักลงทุนรายใหญ่ในตลาด
นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนที่ของราคาและปริมาณการซื้อขายได้ง่ายๆตามหลักการดังนี้
ความพยายามที่เพิ่มขึ้นให้ผลลัพธ์ที่มากขึ้น (ปริมาณการซื้อขายเพิ่ม --> การเคลื่อนที่ของราคามากขึ้น) = แนวโน้มแข็งแรง มีโอกาศไปต่อ
หลักการ: เนื่องจากมีปริมาณซื้อขายที่สูงขึ้นสนับสนุนการเคลื่อนที่ของราคาหลักทรัพย์ นักลงทุนรายใหญ่สามารถควบคุมราคาได้อย่างสมบูรณ์
ความพยายามที่เพิ่มขึ้นให้ผลลัพธ์ที่น้อยลง (ปริมาณการซื้อขายเพิ่ม --> การเคลื่อนที่ของราคาน้อยลง) = แนวโน้มอ่อนแอ มีโอกาสไม่ไปต่อ
หลักการ: นักลงทุนรายใหญ่แสดงถึงเจตจำนงในการควบคุมราคา โดยพยายามทำการซื้อขายไปในทิศทางที่ต้องการแต่เจอแรงต้านในฝั่งตรงกันข้ามที่มีขนาดพอๆกันราคาจึงไม่เคลื่อนที่ไปไหน นักลงทุนรายใหญ่ไม่มีกำลังมากพอในการควบคุมราคา
ความพยายามที่น้อยลงให้ผลลัพธ์ที่มากขึ้น (ปริมาณการซื้อขายน้อยลง --> การเคลื่อนที่ของราคามากขึ้น) = แนวโน้มอ่อนแอ มีโอกาศไปต่อ
หลักการ: แม้ราคาจะเคลื่อนที่ไปมากแต่ปริมาณการซื้อขายที่เป็นตัวแทนของนักลงทุนรายใหญ่นั้นไม่ได้สูงขึ้นตาม หมายความว่านักลงทุนรายใหญ่ไม่ได้สนับสนุนการเคลื่อนที่ของราคาหลักทรัพย์นั้น แนวโน้มจึงไม่แข็งแรง
ความพยายามที่น้อยลงให้ผลลัพธที่น้อยลง (ปริมาณการซื้อขายน้อยลง --> การเคลื่อนที่ของราคาน้อยลง) = แนวโน้มอ่อนแอ มีโอกาสไม่ไปต่อ
หลักการ: การเคลื่อนที่ที่ขาดความกระตือรือร้นและยังขาดการสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่ เป็นแนวโน้มที่อ่อนแอมาก
เมื่อนักลงทุนทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานทั้ง 3 ข้อดังกล่าวแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะนำกฎทั้งหมดมาประยุกต์ใช้ในการอ่านภาพรวมของตลาดผ่าน “Wyckoff Price Cycle (วัฎจักรราคาของ Wyckoff)” เพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์และจับจังหวะตลาดในช่วงต่างๆได้อย่างถูกต้อง โดยจะมุ่งเน้นความสนใจไปในช่วงที่ตลาดเคลื่อนที่ออกข้าง (Trading Ranges) เนื่องจากเป็นช่วงที่แนวโน้มเดิมของตลาดนั้นหยุดและเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่แนวโน้มใหม่
Wyckoff Price Cycle
ในทางทฤษฎีนั้น Wyckoff ได้แบ่งการเคลื่อนที่ของราคาหลักทรัพย์ออกเป็น 4 ระยะดังนี้
1.ระยะเก็บสะสม (Accumulation)
Trading Range เหตุการณ์ที่อุปสงค์มากกว่าอุปทาน ราคาหยุดเคลื่อนที่ลง เนื่องจากมีความต้องการรอรับซื้อหลักทรัพย์ปริมาณมหาศาลจากนักลงทุนรายใหญ่ เพื่อเก็บสะสมหลักทรัพย์ในราคาต้นทุนที่ต่ำ เตรียมความพร้อมในการไล่ราคาให้สูงขึ้นและทำการขายทำกำไรที่บริเวณราคาเป้าหมาย
หากสังเกตเห็นการเก็บสะสมของนักลงทุนรายใหญ่ในปริมาณมาก สิ่งนี้จะเป็นเสมือนสัญญาณเตือนให้นักลงทุนเตรียมเข้าลงทุนในหลักทรัพย์ตัวดังกล่าว ตามทฤษฎีของ Wyckoff Method ได้ระบุเอาไว้ว่าตำแหน่งที่ดีที่สุดที่ควรเข้าลงทุนในหลักทรัพย์คือช่วงท้ายของระยะสะสม ที่หลักทรัพย์กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากแนวโน้มขาลงเป็นแนวโน้มขาขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้ราคาหลักทรัพย์จะเคลื่อนที่ขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นจุดเข้าลงทุนที่ดีที่สามารถเพิ่มกำไรและลดความเสี่ยงโดยรวมได้ในเวลาเดียวกัน
โดย Wyckoff ได้คิดค้นแผนผัง “เหตุการณ์ (Events)” ที่หลักทรัพย์มีแนวโน้มจะเปลี่ยนผ่านจากแนวโน้มขาลงเป็นแนวโน้มขาขึ้น แบ่งออกเป็น “ระยะ (Phases)” ต่างๆดังนี้
โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละระยะจะมีความสำคัญและความหมายต่อการอ่านภาพรวมของตลาด โดยจะมีการกล่าวถึงในบทความต่อๆไป
2.ระยะไล่ราคา (Markup)
หลังจากที่นักลงทุนรายใหญ่ได้ทำการเตรียมความพร้อมโดยการเก็บสะสมหลักทรัพย์ในบริเวณต้นทุนที่ต่ำมามากจนเป็นที่พอใจแล้ว นักลงทุนรายใหญ่จะเริ่มทำการไล่ราคาหลักทรัพย์ขึ้นไปอย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากการที่หลักทรัพย์เคลื่อนที่ขึ้นเป็นแท่งเทียนสีเขียวขนาดใหญ่ทะลุกรอบราคาด้านบนของระยะเก็บสะสม
3.ระยะกระจายหลักทรัพย์ (Distribution)
Trading Range อุปทานมากกว่าอุปสงค์ ราคาจึงเริ่มหยุดเคลื่อนที่ขึ้นและถูกจำกัดการเคลื่อนที่อยู่ในกรอบ เนื่องจากทุกๆครั้งที่ราคาหลักทรัพย์เคลื่อนที่ขึ้นมาถึงบริเวณราคาเป้าหมายที่นักลงทุนรายใหญ่ต้องการขายทำกำไร นักลงทุนรายใหญ่จะเริ่มทำการกระจายหลักทรัพย์ให้แก่นักลงทุนรายย่อยที่มีความต้องการซื้อเนื่องจากความโลภที่เห็นราคาเคลื่อนที่ขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นเวลานานจากช่วงไล่ราคา โดยหลังจากที่นักลงทุนรายใหญ่ได้ทำการขายทำกำไรหลักทรัพย์ที่ถืออยู่จนหมดแล้ว ตลาดก็จะเปลี่ยนผ่านจากแนวโน้มขาขึ้นเป็นแนวโน้มขาลง
ในทางทฤษฎีหากนักลงทุนต้องการ “ขายล่วงหน้า(Short)” ตำแหน่งที่ดีที่สุดคือช่วงท้ายของระยะกระจายหลักทรัพย์ เพราะหลังจากที่ระยะกระจายหลักทรัพย์นั้นจบลง ราคาหลักทรัพย์ก็จะเคลื่อนที่ลงอย่างรวดเร็ว
Wyckoff ได้ทำการคิดค้นแผนผัง “เหตุการณ์ (Event)” ที่หลักทรัพย์ควรจะเป็น หากกำลังเปลี่ยนผ่านจากแนวโน้มขาขึ้นเป็นแนวโน้มขาลง โดยได้แบ่งออกเป็น “ระยะ (Phases)” ต่างๆดังนี้
เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละระยะมีความสำคัญและความหมายต่อการอ่านภาพรวมของตลาด โดยจะมีการกล่าวถึงในบทความต่อๆไป
4.ระยะทุบราคา (Markdown)
เมื่อนักลงทุนรายใหญ่ไม่มีหุ้นเหลืออยู่ใน Portfolio แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพยุงราคาอีกต่อไป ราคาหลักทรัพย์จึงตกลงอย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากการที่หลักทรัพย์เคลื่อนที่ลงเป็นแท่งเทียนสีแดงขนาดใหญ่ทะลุกรอบราคาด้านล่างของช่วงกระจายหลักทรัพย์
นักลงทุนควรไตร่ตรองให้ดีก่อนนำทฤษฎีของ Wyckoff ไปประยุกต์ใช้ในแต่ละสถานการณ์ เนื่องจากการเคลื่อนที่ของตลาดนั้นเกิดจากการซื้อขายของนักลงทุนจำนวนมากและมีปัจจัยต่างๆมากระทบตลอดเวลา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีลักษณะเหมือนกันทุกครั้ง ทฤษฎีของ Wyckoff ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เปรียบเสมือน “แผนผัง” คร่าวๆที่ใช้ในการอ่านภาพรวมและแนวโน้มของตลาดเท่านั้น หากนักลงทุนศึกษา Wyckoff method โดยอาศัยการท่องจำเป็นหลักอาจก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดจนลงทุนในตำแหน่งที่ผิดพลาดได้
ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล
เทรดเดอร์อิสระ