Chapter 2 : หัวใจของความสำเร็จในการลงทุนคือการตั้ง Stop Loss
Stop loss (การตัดขาดทุน) เป็นหนึ่งในคำศัพท์การลงทุนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากการตัดขาดทุนเป็นอาวุธชิ้นสำคัญที่หากนักลงทุนมีความเข้าใจและใช้อย่างถูกต้อง จะเป็นตัวแปรสำคัญชี้ขาดระหว่างความสำเร็จและความล้มเหลวในการลงทุน
นักลงทุนส่วนมากคิดว่าการวางจุดกลยุทธ์ในการตัดขาดทุนนั้นเป็นเรื่องง่ายและไม่จำเป็นต้องเสียเวลาศึกษามากนัก ขอแค่วางในจุดที่นักลงทุนไม่ต้องการให้ราคาหลักทรัพย์เคลื่อนที่กลับมาหลังจากที่เข้าลงทุน หรือ อยากขาดทุนเท่าไหร่ก็ตั้งเท่านั้นพอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การกำหนดจุดตัดขาดทุนที่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัย ความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ในการวิเคราะห์ตลาดอย่างมาก เพราะหากวิเคราะห์ผิดพลาด ความผันผวนของตลาดอาจทำให้นักลงทุนขาดทุน ก่อนที่ราคาหลักทรัพย์นั้นจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่นักลงทุนคาดการณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพจิตใจและความเชื่อมันในกลยุทธ์ของนักลงทุนเป็นอย่างมาก
กลยุทธ์การตัดขาดทุนคืออะไร?
Stop Loss (การตัดขาดทุน) คือการที่นักลงทุนบอกกับตนเองว่า ด้วยความรู้ ความเข้าใจในกลยุทธ์การลงทุน การวิเคราะห์ Story ของราคา และ การคาดการณ์บนความน่าจะเป็นที่สูง หลังจากที่เข้าลงทุน ราคาไม่ควรเคลื่อนที่กลับมา ณ บริเวณนี้ หากราคาเคลื่อนที่กลับมา ณ บริเวณนี้ สิ่งที่นักลงทุนคาดการณ์นั้นมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจไม่เกิดขึ้น และนักลงทุนอาจคาดการณ์ผิด การตัดขาดทุนจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่งด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ
1.ไม่มีกลยุทธ์การลงทุนใดที่สามารถคาดการณ์การเคลื่อนที่ของตลาดได้ด้วยความแม่นยำ 100%
เนื่องจาก “กลยุทธ์” คือการคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนที่ของราคาหลักทรัพย์ผ่านรูปแบบพฤติกรรมของราคา ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน นักลงทุนจึงสามารถคาดการณ์การเคลื่อนที่ของราคาหลักทรัพย์ด้วยความน่าจะเป็นที่สูงได้ ว่าหากหลักทรัพย์มีรูปแบบพฤติกรรมของราคาแบบนี้ ราคาหลักทรัพย์ “ควรจะ” เคลื่อนที่ไปในทิศทางใด
แน่นอน คำว่า “ควรจะ” นั้นอ้างอิงอยู่บนหลักการทางสถิติที่เรียกว่า “กฎว่าด้วยจำนวนมาก (Law of Large Numbers)” ที่กล่าวไว้ว่า
“การวิเคราะห์ความน่าจะเป็นทางสถิติด้วยกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก จะทำให้ความน่าเชื่อถือของผลลัพธ์สูงขึ้น ค่าความน่าจะเป็นที่ได้จะเข้าใกล้ค่าความน่าจะเป็นที่แท้จริง จึงสามารถนำไปใช้อ้างอิงเพื่อการตัดสินใจบนหลักการทางสถิติได้”
ดังนั้นหากกลยุทธ์ที่นักลงทุนใช้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้ได้จริงในอดีตด้วยความน่าจะเป็นที่สูง ก็มีความน่าจะเป็นที่สูงที่จะสามารถใช้ได้อีกหากเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในอนาคต
แต่นักลงทุนต้องไม่มองข้ามความเป็นจริงที่ว่าการคาดการณ์การเคลื่อนที่ของราคาหลักทรัพย์นั้น อาศัยหลักการความน่าจะเป็นในการตัดสินใจ ไม่ว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวจะมีรูปแบบของพฤติกรรมที่สมบูรณ์แบบเหมือนในอุดมคติเพียงใด ก็มีโอกาสที่หลักทรัพย์นั้นจะไม่เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่นักลงทุนคาดการณ์ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นักลงทุนจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วย “การวางแผนตัดขาดทุนไว้ทุกครั้งก่อนเข้าลงทุน”
ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ตนอาจวิเคราะห์ตลาดพลาด และทำการตั้ง Stop loss ในจำนวนเงินที่ตนสามารถเสียได้ทุกครั้ง ก่อนคิดถึงกำไร เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงไม่ให้การขาดทุนครั้งใดครั้งหนึ่งมีผลกระทบต่อ Portfolio ของนักลงทุนมากจนเกินไปในระยะยาว
2.บริหารจัดการความเสี่ยงบนเงินลงทุนที่มีอย่างจำกัด
ด้วยความที่เงินลงทุนนั้นมีอยู่อย่างจำกัด การบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุนจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากการลงทุนในหลักทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งเกิดความผิดพลาด หลักทรัพย์ไม่ได้เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่นักลงทุนคาดการณ์ การขาดทุนก็จะเป็นเรื่องที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญคือเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่คิดแล้ว นักลงทุนเลือกที่จะทำอย่างไรหลังจากที่ผลขาดทุนนั้นได้เกิดขึ้น
หากนักลงทุนเลือกที่จะ “ไม่ยอมตัดขาดทุน” และใช้แนวคิดแบบ “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน" สิ่งที่จะตามมานั้นอาจเป็นผลขาดทุนจำนวนมหาศาลที่จะทำลาย Portfolio ในระยะยาว จนยากต่อการลงทุนให้มูลค่าของ Portfolio นั้นกลับมาที่เดิมก่อนการขาดทุน และที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้นทุนค่าเสียโอกาส กล่าวคือ นักลงทุนไม่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ตัวใหม่ได้ จากการไม่ยอมตัดขาดทุนเพื่อนำเงินลงทุนส่วนที่เหลือกลับมาสร้างรายได้เพื่อชดเชยเงินที่เสียไป
หากนักลงทุนเลือกที่จะ “ตัดขาดทุน" การกระทำดังกล่าวจะเป็นเสมือนการยอมรับว่าการวิเคราะห์ของนักลงทุนนั้นสามารถผิดได้ ซึ่งเป็นการดีกว่า ที่นักลงทุนจะหยุดผลขาดทุนนั้น และออกมาตั้งหลักเพื่อวิเคราะห์ตลาดใหม่ด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ว่ามีสิ่งใดที่นักลงทุนมองข้ามไปหรือไม่ ตลาดจึงมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากการคาดการณ์ของนักลงทุนในตอนแรก อีกทั้งการตัดขาดทุนนั้นจะเป็นการหยุดการขาดทุนที่ไม่จำเป็นต้องเสียเพิ่ม เพราะตลาดไม่ได้มีพฤติกรรมใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของนักลงทุน จึงไม่มีเหตุผลให้ต้องถือหลักทรัพย์ตัวนั้นต่อ
หากนักลงทุนเข้าลงทุนในหลักทรัพย์โดยไม่มีการตั้ง Stop loss ที่ชัดเจน นั่นหมายถึงนักลงทุนเลือกลงทุนโดยปราศจากแผนการในการลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ อันตรายมาก เนื่องจากนักลงทุนไม่รู้ว่าจุดๆไหนที่ต้องยอมรับว่าตนวิเคราะห์พลาดและทำการตัดขาดทุนออกมาก่อน จึงเป็นเหตุให้นักลงทุนส่วนมากถือหลักทรัพย์ไปเรื่อยๆ ยิ่งเห็นขาดทุนมากเท่าไหร่ ยิ่งตัดใจขายไม่ได้ และหวังให้สักวันหนึ่งราคาหลักทรัพย์ตัวดังกล่าวจะกลับขึ้นมา แต่สิ่งนั้นเป็นเพียงความหวัง เงินลงทุนจึงจมอยู่กับที่เป็นเวลานาน ก่อให้เกิดทั้งปัญหาทางการเงินและความเครียดทางจิตใจ
ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ตนจะวิเคราะห์ตลาดพลาด และทำการตั้ง Stop loss ในจำนวนเงินที่ตนสามารถเสียได้ทุกครั้ง ก่อนคิดถึงกำไร เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงไม่ให้การขาดทุนครั้งใดครั้งหนึ่งมีผลกระทบต่อ Portfolio ของนักลงทุนมากจนเกินไปในระยะยาว
ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล
เทรดเดอร์อิสระ