Chapter 3 : การถัวเฉลี่ยขาดทุนคือหายนะ ที่ทำให้นักลงทุนหมดตัวได้เร็วที่สุด

การถัวเฉลี่ยขาดทุน (Averaging Loss) หมายถึงการที่นักลงทุนซื้อหุ้นหลักทรัพย์ในราคาที่ต่ำลงกว่าเดิมหลังจากที่มีการลงทุนไปแล้วก่อนหน้าเพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยของหลักทรัพย์ที่ถืออยู่นั้นต่ำลง แม้ว่าการกระทำดังกล่าวดูเหมือนจะสมเหตุสมผล เนื่องจากนักลงทุนซื้อหลักทรัพย์ตัวเดิมในราคาที่ “ต่ำลง” เปรียบเสมือนการซื้อของราคาถูก หากราคาหลักทรัพย์กลับตัวขึ้นมาเป็นขาขึ้น กำไรจากการลงทุนก็จะสูงขึ้น อีกทั้งหากเราต้องการขายหุ้นคืนในราคาทุนก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นเพราะราคาเฉลี่ยของหลักทรัพย์นั้นต่ำลงมาแล้ว การกลับตัวของราคาเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้นักลงทุนขายคืนที่ราคาทุนได้

แต่นักลงทุนหารู้ไม่ว่าความคิดที่มองแต่เพียง “ด้านกำไร” ผ่านความโลภและความกลัวของนักลงทุนเช่นนี้คือหายนะ ที่สามารถทำลาย Portfolio ในการลงทุนของนักลงทุนได้อย่างรวดเร็ว จนอาจเข็ดขยาดจากการลงทุนและเลิกลงทุนไปในที่สุด ดังที่ Jesse Livermore นักลงทุนชื่อดังชาวอเมริกันได้กล่าวไว้ว่า “การถัวเฉลี่ยขาดทุนเป็นสิ่งที่ห้ามกระทำเด็ดขาด”

 
Never average losses by, for example, buying more of a stock that has fallen
— Jesse Livermore ( Legendary Trader )
 

นักลงทุนที่ดีไม่ควรถัวเฉลี่ยขาดทุนด้วยเหตุผลหลัก 3 ประการ

1.นักลงทุนไม่ควรวางเงินลงทุนเพิ่มในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ผิดพลาด (Don’t Put More Money on a Bad Read)

หลังจากเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่ง และแนวโน้มของราคาไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดการณ์ นักลงทุนอาจยังคงความเชื่อมั่นในหลักทรัพย์ที่ตนเลือกลงทุนอยู่และทำการซื้อถัวเฉลี่ยขาดทุน อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรพึงระลึกเอาไว้เสมอว่า เมื่อหลักทรัพย์ไม่เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่นักลงทุนคาดการณ์เอาไว้ตั้งแต่ทีแรก ก็มีความเป็นไปได้สูงที่นักลงทุนจะวิเคราะห์หลักทรัพย์ดังกล่าวผิดพลาดเอง

นักลงทุนควรทำการตัดขาดทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวออกมาก่อน เพื่อที่จะตั้งสติและมีจิตใจในการวิเคราะห์ที่เป็นกลาง คือมองตลาดตามความเป็นจริง แต่หากนักลงทุนตัดสินใจลงทุนเพิ่มในขณะที่จิตใจยังเต็มไปด้วยอคติจากการขาดทุน (แนวคิดประเภท ฉันวิเคราะห์ถูกแล้ว แต่ความผันผวนของตลาดทำให้ไม่เป็นไปตามคาด) ก็มีความเป็นไปได้ ที่การเข้าลงทุนครั้งต่อๆไปจะเป็นการลงทุนแบบ “แก้แค้น (Revenge Trading)" กล่าวคือนักลงทุนต้องการเอาคืนตลาดที่ทำให้ตนขาดทุน จึงไม่ได้วิเคราะห์ตลาดให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าลงทุน การกระทำเช่นนี้ไม่ต่างจากการขุดหลุมฝังตนเอง

 
The Markets Can Remain Irrational Longer Than You Can Remain Solvent
— John Maynard Keynes
 

ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้ว่าการวิเคราะห์ของนักลงทุนจะถูกต้องก็ตาม คือเป็นความผิดของตลาดที่ทำให้ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ของนักลงทุน  John Maynard Kaynes นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์สาย Keynesian Economics ก็ได้กล่าวถึงกรณีนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ตลาดสามารถทำตัวไม่มีเหตุผลได้ยาวนานกว่าที่นักลงทุนจะสามารถอยู่รอดได้” ดังนั้นต่อให้การวิเคราะห์ของนักลงทุนนั้นถูกต้อง แต่หากตลาดไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ นักลงทุนก็ควรต้องตัดขาดทุนอยู่ดี

นักลงทุนที่ดีควรทิ้งความรู้สึกที่ว่า “ฉันเป็นฝ่ายถูก” เอาไว้เบื้องหลัง และพุ่งความสนใจไปที่มูลค่าของ  Portfolio ในระยะยาวเป็นสำคัญ นักลงทุนต้องพึงระลึกเอาไว้เสมอ ว่านักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดเพราะต้องการสร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง ไม่ใช่เข้ามาเล่นการพนัน

TRUE Stuck with the Loss WM.png

จากตัวอย่างนักลงทุนจะเห็นว่า “เวลา” ไม่สามารถเยียวยาแผนการลงทุนที่ “ล้มเหลว” หากนักลงทุนเข้าลงทุนในหลักทรัพย์บนการคาดการณ์ว่าแนวโน้มขาขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไป แต่เมื่อตลาดแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มขาขึ้นได้จบลงแล้ว นักลงทุนควรมีสติและตัดขาดทุนออกมาเสีย ไม่เช่นนั้นต่อให้เวลาผ่านไป 5 ปีเหมือนในตัวอย่าง ราคาหลักทรัพย์ก็อาจยังไม่กลับตัวขึ้นมาที่ราคาทุนได้

2.นักลงทุนไม่สามารถถัวเฉลี่ยขาดทุนไปได้เรื่อยๆแบบไม่มีที่สิ้นสุด

หนทางเดียวที่นักลงทุนจะได้ประโยชน์จากกลยุทธ์การถัวเฉลี่ยขาดทุนคือ การซื้อหลักทรัพย์ในราคาที่ถูกลงไปเรื่อยๆ จนกว่าหลักทรัพย์ตัวดังกล่าวจะกลับตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วนักลงทุนไม่สามารถทำตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ เนื่องจากเงินลงทุนของนักลงทุนมีจำกัด ไม่สามารถซื้อหลักทรัพย์ตลอดทางขาลงไปได้เรื่อยๆ

ต่อให้นักลงทุนสามารถถัวเฉลี่ยได้ในช่วงแรก แต่หากหลักทรัพย์ตัวดังกล่าวไม่ยอมกลับตัวขึ้นและเป็นแนวโน้มขาลงไปเรื่อยๆ สักวันเงินใน Portfolio ก็จะไม่พอให้ถัวเฉลี่ยได้อีก จึงเป็นการดีกว่าหากไม่ถัวเฉลี่ยขาดทุนตั้งแต่ต้นและยอมตัดขาดทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวแทน

ตัวอย่าง

STPI Averaging Loss WM.png

หากนักลงทุนท่านใดพบเจอเหตุการณ์ดังรูปตัวอย่างแล้วละก็ คงจะหมดเนื้อหมดตัวเป็นแน่ เราจะเห็นได้ว่าถึงแม้นักลงทุนจะยังสามารถถัวเฉลี่ยขาดทุนได้ในช่วงแรก แต่เมื่อไม่ทราบว่า “เมื่อไหร่” ราคาหลักทรัพย์จึงจะหยุดเคลื่อนที่ลง สิ่งที่นักลงทุนทำคือการซื้อถัวเฉลี่ยขาดทุนเพิ่มทุกครั้งที่ราคาทำจุดต่ำสุดใหม่ และแน่นอนว่าหลังจากที่ถัวเฉลี่ยมาเป็นเวลานาน เงินลงทุนใน Portfolio ก็จะต้องหมดลงในที่สุด เมื่อเงินลงทุนหมด นักลงทุนจึงไม่สามารถซื้อถัวเฉลี่ยได้อีกต่อไป นักลงทุนอาจรู้สึกมีความหวังทุกครั้งที่เห็นการกลับตัวของหลักทรัพย์ แต่การกลับตัวนั้น ก็อาจเป็นเพียงการกลับตัวระยะสั้น เงินลงทุนทั้งหมดจึงกลายเป็นเงินจม ในหลักทรัพย์ที่ขาดทุน

3.แนวโน้มการเคลื่อนที่ของตลาดจะยังคงเป็นเช่นเดิมจนกว่าตลาดจะส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มที่ชัดเจน

การเข้าลงทุนในตลาดไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ก็จะต้องใช้ทักษะในการวิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็นในการกลับตัว หรือความต่อเนื่องบนแนวโน้มของราคาหลักทรัพย์เสมอ เช่น หากนักลงทุนเข้าลงทุนในหลักทรัพย์โดยคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงในแนวโน้มจากขาลงเป็นขาขึ้น คือหลังจากที่เข้าลงทุนแล้วหลักทรัพย์ควรจะเคลื่อนที่ขึ้นไปตามการคาดการณ์ หากหลักทรัพย์ไม่กลับตัวเป็นขาขึ้น แต่กลับลงมาจนนักลงทุนอยากเข้าลงทุนเพิ่มเพื่อถัวเฉลี่ยขาดทุน แปลว่า มีความน่าจะเป็นสูงที่การวิเคราะห์ถึงการกลับตัวของหลักทรัพย์นั้นผิดพลาด ตลาดอาจยังอยู่ในแนวโน้มขาลงต่อไปอีก และเคลื่อนที่ลงไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีสัญญาณการกลับตัวที่ชัดเจน

เมื่อนักลงทุนเลือกที่จะถัวเฉลี่ยขาดทุนในแนวโน้มขาลงทั้งที่ไม่เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มจากตลาดที่ชัดเจน จะเปรียบเหมือนการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล (หวย) เนื่องจากนักลงทุนเองก็ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่ตลาดจะกลับตัวเป็นขาขึ้น เพราะปัจจุบันตลาดเป็นขาลง หากไม่มีสัญญาณการกลับตัว ราคาก็จะเคลื่อนที่ลงไปเรื่อยๆ สัญญาณกลับตัวจะมาเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ การเข้าลงทุนเพิ่มจึงเป็น “การพนันที่แท้จริง” ที่นักลงทุน “ยอม” ให้ตลาดทำอะไรกับเงินของนักลงทุนก็ได้ เพียงเพราะ “หวัง” ว่าสักวันหนึ่งราคาหลักทรัพย์นั้นจะกลับมาที่เดิมหรือสูงกว่า


หากมองผิวเผิน การถัวเฉลี่ยขาดทุนอาจดูเหมือนเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ดี แต่หากนักลงทุนลองตั้งสติและคิดให้ถี่ถ้วน นักลงทุนจะเห็นว่าการถัวเฉลี่ยขาดทุน เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหากนักลงทุนไม่ต้องการที่จะหมดตัวจากการลงทุนในตลาด หนทางที่ดีที่สุดเมื่อการเคลื่อนที่ของราคาไม่ได้เป็นไปตามการคาดการณ์คือ “การตัดขาดทุน (ตั้ง Stop Loss)” เพื่อที่นักลงทุนจะสามารถกลับมาวิเคราะห์ตลาดด้วยใจที่เป็นกลางอีกครั้งว่ามีสิ่งใดที่นักลงทุนมองพลาดไปหรือไม่ พฤติกรรมของหลักทรัพย์จึงไม่เป็นไปตามคาดการณ์

Dry+Cut+Portrait+small.jpg

ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล

เทรดเดอร์อิสระ

 

Social Links

 

Recent Posts

Previous
Previous

Chapter 4 : ทำไมนักลงทุนจึงควรใช้ Volume ประกอบการวิเคราะห์ Price Action

Next
Next

Chapter 2 : หัวใจของความสำเร็จในการลงทุนคือการตั้ง Stop Loss