Chapter 1 : ทำไมควรวิเคราะห์ Price Action ก่อน Indicator
Indicator คือเครื่องมือทางเทคนิคที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสะบายในการตัดสินใจให้นักลงทุนด้วยการนำราคาหลักทรัพย์ หรือ ข้อมูลอื่นๆจากตลาดมาคำนวณ ให้ได้สิ่งที่นักลงทุนไม่สามารถมองเห็นได้ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลหลักทรัพย์แบบทั่วไป เพื่อหาข้อสรุปในการลงทุนว่า ณ ปัจจุบันนักลงทุนควร ซื้อ ขาย หรือ ถือ หลักทรัพย์ตัวนั้นๆ
แต่ทราบหรือไม่ว่าในความสะดวกสะบายที่ Indicator ได้มอบให้นั้นกลับแฝงไปด้วยความอันตรายที่สามารถทำลายอนาคตการลงทุนได้ด้วยเหตุผลหลัก 3 ประการ
1.Indicator นำราคาและข้อมูลตลาดอื่นมาคำนวณจึงให้ข้อมูลในการตัดสินใจที่ช้า
อย่างที่นักลงทุนหลายท่านทราบ ตลาดหลักทรัพย์คือสถานที่ที่นักลงทุนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนต่างชาติ และ เทรดเดอร์สถาบัน เข้ามาทำการซื้อขายบนเหตุผลต่างๆของตนเองเพื่อแสวงหาผลกำไร จนเกิดเป็นการเคลื่อนไหวในราคาหลักทรัพย์ตามหลักการ อุปสงค์ อุปทาน การเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์จึงเป็นข้อมูลทางตรงจากตลาดที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ได้ทันที โดยไม่ต้องนำข้อมูลดังกล่าวไปผ่านกระบวนการใดๆอีก
การวิเคราะห์แผนการลงทุนผ่านราคาเป็นหลักจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำเพื่อลดช่องว่างระหว่างนักลงทุนกับตลาด การตัดสินใจของนักลงทุนจึงจะเป็นปัจจุบันและทันต่อเหตุการณ์
หากนักลงทุนเลือกใช้ Indicator เป็นหลักในการตัดสินใจลงทุน Indicator เหล่านี้จะเป็นเสมือนรอยต่อที่เชื่อมระหว่างนักลงทุนกับตลาดอีกทอดหนึ่งโดยการนำข้อมูลทางตรง (ราคาและข้อมูลตลาด) มาคำนวณผ่านสูตรทางคณิตศาสตร์เพื่อให้ได้ค่าที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจลงทุน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจจนอาจ พลาดตำแหน่งที่ดีที่สุดในการเข้าซื้อหรือตัดขาดทุนได้
ลองมาดูตัวอย่างผ่านการวิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วย Indicator ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดอย่าง MACD (Moving Average Convergence/Divergence) โดย MACD เป็น Indicator เสริมในการวิเคราะห์ Momentum (ความเร็ว/ความเร่ง) ของราคาหลักทรัพย์เพื่อที่นักลงทุนจะได้ทราบว่า ปัจจุบันราคาหลักทรัพย์มีความเร่งเป็นเช่นไรเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
จากตัวอย่างนักลงทุนจะเห็นได้ว่าหากนักลงทุนวิเคราะห์หลักทรัพย์ผ่านข้อมูลตลาดโดยตรง (Price Action และ Volume) นักลงทุนจะสามารถเข้าลงทุนในจังหวะที่เหมาะสมและต้นทุนในการเข้าซื้อจะต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการรอสัญญาณการเข้าซื้อของ Indicator เป็นหลัก ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าในระยะยาวกำไรในการลงทุนจะสูงขึ้น ในทางกลับกันหากหลักทรัพย์ไม่ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่คาดการณ์ไว้การขาดทุนก็จะน้อยลง
2.สูตรการคำนวนซับซ้อนหากขาดความเข้าใจอาจใช้ผิดวัตถุประสงค์
เนื่องจากผู้ที่คิดค้น Indicator แต่ละตัวมีความต้องการที่จะตีความข้อมูลตลาดในหลากหลายบริบท วัตถุประสงค์ในการใช้งานจึงแตกต่างกัน อีกทั้ง Indicator บางตัวมีสูตรการคำนวณที่ซับซ้อนมากจนยากต่อการทำความเข้าใจ จึงเป็นเหตุให้นักลงทุนใช้ Indicator เหล่านั้นในบริบทที่ไม่สอดคล้องกับเจตจำนงเริ่มต้นของผู้คิดค้นจนอาจนำไปสู่การขาดทุนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ขอยกตัวอย่างผ่าน Indicator ที่มีชื่อว่า Bollinger bands ซึ่งคิดค้นโดย John Bollinger อย่างที่นักลงทุนทราบกันดี Bollinger Bands ทำหน้าที่หาความผันผวนในราคาผ่านการคำนวณ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และจึงนำค่าดังกล่าวไปหา Upper band และ Lower Band จากเส้นค่าเฉลี่ย ด้วยสมการดังต่อไปนี้ :
Middle Band = เส้นค่าเฉลี่ย 20 วันของราคาปิด
Upper Band = เส้นค่าเฉลี่ย 20 วันของราคาปิด + (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ของราคาปิด 20 วัน) *2
Lower Band = เส้นค่าเฉลี่ย 20 วันของราคาปิด - (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ของราคาปิด 20 วัน) * 2
John Bollinger ได้เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ MoneyShow.com ว่านักลงทุนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่าหากราคาชน Upper band จะหมายถึงสัญญาณขาย หากชน Lower Band หมายถึงสัญญาณซื้อ ในความเป็นจริงแล้ว Bollinger bands ไม่ได้ให้สัญญาณใดๆ เพียงแต่ตอบคำถามให้นักลงทุนว่า ราคาหลักทรัพย์นั้นสูงหรือต่ำ เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวของราคาปิดในช่วง 20 วันที่ผ่านมา เมื่อนักลงทุนได้คำตอบแล้วจึงนำคำตอบนั้นไปใช้ประกอบการวางแผนซื้อขายหลักทรัพย์
โดยสรุป:
หากราคาชน Lower band หมายความว่าราคาต่ำ เมื่อเทียบกับราคาในช่วงที่ผ่านมา
หากราคาชน Upper band หมายความว่าราคาสูง เมื่อเทียบกับราคาในช่วงที่ผ่านมา
ตัวอย่าง
จากภาพนักลงทุนจะเห็นได้ว่าการส่งคำสั่งขายทุกครั้งที่ราคาชน Upper Band นั้นเป็นอะไรที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะแนวโน้มปัจจุบันของตลาดเป็นขาขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติที่ราคาจะชน Upper Band บ่อยครั้งโดยที่ไม่ได้มีการกลับตัวตามมา นักลงทุนจึงต้องใช้ Indicator แต่ละตัวอย่างรู้เท่าทันและคำนึงถึงสภาวะตลาดทุกครั้งที่ทำการวิเคราะห์
3.ขาดการคำนึงถึง Story ของราคาหลักทรัพย์
หากนักลงทุนลองสังเกตดูให้ดีจะพบว่า ไม่ว่านักลงทุนจะเลือกใช้หลักเกณฑ์ใดในการคัดเลือกหลักทรัพย์ผ่าน Indicator จะมีหลักทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์เป็นจำนวนมาก นักลงทุนจะทราบได้อย่างไรว่าหลักทรัพย์ตัวใดจะเคลื่อนไหวตามแนวโน้มที่นักลงทุนคาดการณ์ในเวลาอันสั้น นี่เป็นหนึ่งในคำถามเงินล้านที่หากนักลงทุนสามารถหาคำตอบได้ก็จะสามารถทำกำไรจากตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
ทว่าสัญญาณจาก Indicator ของหลักทรัพย์แต่ละตัวนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก จึงยากต่อการแยกแยะว่านักลงทุนควรจะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ตัวใดจึงจะดีที่สุด อีกทั้งสัญญาณเหล่านี้เป็นสัญญาณที่เกิดขึ้น ณ จุดๆหนึ่งในเวลาโดยคำนวณเฉพาะข้อมูลตลาดจากระยะเวลาในอดีตเท่าที่นักลงทุนตั้งค่าไว้ เหตุการณ์ต่างๆของราคาหลักทรัพย์ในระยะยาวที่สามารถนำมาอ่านเป็น story เพื่อหาแนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาบนหลักความน่าจะเป็นที่สูงจึงไม่ได้ถูกนำมาประกอบการวิเคราะห์ เช่น:
ราคาเคยทดสอบแนวรับแนวต้านบริเวณใดบ้าง
ราคามีแนวโน้มปัจจุบันแบบใด (Trend | Sideway | Channel)
ราคามีการทำ Shakeout เพื่อทดสอบตลาดที่บริเวณใด
นักลงทุนรายใหญ่มีการเก็บสะสมหลักทรัพย์มาก่อนหรือไม่ ก่อนทำการไล่ราคา (Accumulation)
นักลงทุนรายใหญ่ขายหลักทรัพย์ที่ถืออยู่ทิ้งไปแล้วหรือยัง (Distribution)
Momentum ของราคาเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบระหว่างแรงซื้อและแรงขาย
เรามาลองดูตัวอย่างผ่านการใช้ MACD ด้วยค่ามาตรฐานที่ (EMA 12, EMA 26, Signal 9) เราจะเห็นได้ว่า MACD คำนวณโดยการใช้ราคาปิดสูงสุดอยู่ที่ 26 วัน (บริเวณสีแดง) ซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆของ Story ของราคาหลักทรัพย์ที่นักลงทุนควรนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ (บริเวณสีเขียว) หากนักลงทุนเชื่อแต่ MACD เพียงอย่างเดียวอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าราคาหลักทรัพย์กำลังจะกลับตัวเป็นขาขึ้น ทั้งๆที่ในความเป็นจริงเมื่อนำ Story ของราคาทั้งหมดมาร่วมวิเคราะห์นี่อาจเป็นเพียงการขึ้นระยะสั้นเท่านั้น
จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา นักลงทุนจึงควรใช้ Indicator เป็นเพียง “เครื่องมือเสริม” ประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยการวิเคราะห์ Price Action “เป็นหลัก” ที่สำคัญไม่ว่านักลงทุนจะเลือกใช้ Indicator ตัวใดก็ควรศึกษาถึงที่มาและวิธีในการใช้ให้เข้าใจอย่างท่องแท้ก่อน ว่าทำไมนักลงทุนถึงควรใช้ Indicator เหล่านั้น
ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล
เทรดเดอร์อิสระ