Chapter 2 : การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนกับตัวเอง
เมื่อมีแผนการบริหารกระแสเงินสดและแผนการบริหารความเสี่ยงที่ดีแล้ว แผนการเงินของเราก็จะมั่นคงพร้อมที่จะต่อยอดเงินต้นให้งอกเงยขึ้นผ่าน “แผนการลงทุน” ทั้งนี้เมื่อพูดถึงเรื่องการลงทุนหลายคนอาจนึกถึงการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างๆเช่น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แต่ความจริงแล้วการลงทุนที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่การลงทุนกับสินทรัพย์ภายนอก แต่เป็นการ “ลงทุนกับตัวเอง”
การลงทุนกับตัวเอง คือการใช้เงินเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ต่างๆที่จำเป็นในการต่อยอดรายได้หรือสร้างโอกาสทางอาชีพให้มากขึ้น โดยการลงทุนกับตัวเองนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิ
ซื้อหนังสือหรือสมัครคอร์สเรียนในหัวข้อที่สนใจ : เพิ่มพูนความรู้ เปิดโลกทัศน์ พัฒนาทักษะในด้านต่างๆ
ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก : เพิ่มวุฒิการศึกษาเพื่ออัพฐานเงินเดือน รองรับการเลื่อนตำแหน่งงานที่สูงขึ้น
ลงทุน Startup ในอุตสาหกรรมที่สนใจ : เพิ่มประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริงในธุรกิจที่เราสนใจ
เดินทางไปชมงาน Exhibition : เปิดโลกทัศน์ให้เป็นปัจจุบัน ทันต่อนวัตกรรมสมัยใหม่
ครั้งหนึ่งเศรษฐีอันดับโลกอย่าง Warren Buffet ได้กล่าวเอาไว้ว่า “การลงทุนที่สำคัญที่สุดคือการลงทุนกับตัวเอง” ทั้งนี้ก็เพราะทักษะและความรู้ที่มากขึ้นนั้นสามารถเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ให้เราอย่างไม่จำกัด ยิ่งไปกว่านั้นทักษะที่ได้รับจะกลายมาเป็นทรัพย์สมบัติติดตัวเราไปตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตามนอกจากการสำรองเงินเพื่อศึกษาหาความรู้แล้ว ก็ควร “สำรองเงินลงทุนเพื่อฝึกทักษะในการลงทุน” ด้วย เฉกเช่นเดียวกับทักษะอื่นๆที่ต้องมีการฝึกฝนจนกว่าจะเกิดความชำนาญ ก่อนที่จะเริ่มลงทุนเป็นก็ต้องมีการฝึกทักษะการลงทุนเช่นกัน เมื่อเริ่มฝึกลงทุนในตลาดจริง ก็จะต้องมีการลงทุนพลาด มีการขาดทุนก่อนจะเริ่มทำกำไรได้อย่างคงที่ (โอกาสในการทำกำไรได้มากกว่าโอกาสขาดทุนหรือกำไรเฉลี่ยมากกว่าขาดทุนเฉลี่ย รายละเอียดจะมีกล่าวถึงในบทความต่อๆไป)
เช่นนั้นเราจึงต้องมีการสำรองเงินลงทุนเอาไว้ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ในช่วงระยะการฝึกเราอาจลงเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ราว 100,000 บาท) นักลงทุนมือใหม่อาจมองว่า “เงินน้อยขนาดนี้ลงทุนไปก็ไม่ได้อะไร เอาไว้รวยแล้วค่อยลงทุนก็ยังได้” หากแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุนช่วงแรกไม่ใช่ผลผลตอบแทนจากการลงทุน แต่เป็นทักษะการอ่านตลาดที่ได้จากการฝึกลงทุน ไม่ว่าเงินลงทุนนั้นจะมากหรือน้อยก็ไม่ต่างกัน หากนักลงทุนยังไม่สามารถทำทำกำไร 10% บนเงิน 100,000 บาทได้ ก็คงไม่มีทางทำกำไรบนเงิน 1,000,000 บาทได้เช่นกัน
ทางเลือกในการลงทุนนั้นมีหลากหลายรูปแบบและไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การลงทุนในหลักทรัพย์เพียงอย่างเดียว ทุกการลงทุนล้วนให้ผลตอบแทนในรูปแบบที่ต่างกัน ไม่ว่าเราจะตัดสินใจลงทุนกับสิ่งใดก็ตามควรตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพื่อที่เงินลงทุนที่เราหามาอย่างยากลำบากจากการทำงานหนักจะถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ธวัชชัย ชนะเศรษฐกุล
เทรดเดอร์อิสระ